ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 ยืนยัน “ประกาศสภาการพยาบาล” เพิ่มรายการยาให้พยาบาลจ่ายแก่ผู้ป่วย ช่วยยกระดับขีดความสามารถพยาบาล 2.2 แสนราย - ลดแออัด รพ. - ปชช. ได้ประโยชน์


ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 1 เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึง “ประกาศสภาการพยาบาล เรื่องกำหนดรายการยาและสารวินิจฉัย สำหรับพยาบาลวิชาชีพ และพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้น พ.ศ. 2565” ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2565 ตอนหนึ่งว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องดี ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีพยาบาลวิชาชีพคอยดูแลในเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะการจ่ายยาในโรคเบื้องต้น รวมถึงคนไข้เดิมที่ต้องรับยาต่อเนื่อง

สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว ลงนามโดย รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล โดยมีสาระสำคัญคือการ “เพิ่มรายการยา” ให้พยาบาลวิชาชีพ-พยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถจ่ายให้กับผู้ป่วยได้

ประกาศสภาการพยาบาลฯ ระบุตอนหนึ่งว่า ข้อ 2 “พยาบาลวิชาชีพ” ในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค ตามที่กำหนดไว้ ในข้อ 10 ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2564 หากจำเป็นต้องใช้ยา นอกจากที่ได้กำหนดไว้ในแผนการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ให้ใช้ยาตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบ 1 ท้ายประกาศนี้

ข้อ 3 “พยาบาลเวชปฏิบัติ” ในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ข้อ 11 หากจำเป็นต้องใช้ยาและสารวินิจฉัย นอกจากที่กำหนดไว้ในแผนการรักษา ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว สามารถใช้ยาและสารวินิจฉัยตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบ 2 ท้ายประกาศนี้

ทั้งนี้ เอกสารแนบ 1 “พยาบาลวิชาชีพ” สามารถจ่ายยาได้ 52 รายการ ขณะที่ “พยาบาลเวชปฏิบัติ” จ่ายยาได้ 120 รายการ (อ่านรายละเอียดรายการยาได้ที่นี่)

ดร.กฤษดา กล่าวต่อไปว่า จากประกาศดังกล่าว ผู้ป่วยที่เจ็บเล็กน้อย รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่องจะได้รับประโยชน์ โดยพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเวชปฏิบัติสามารถดูแลและให้คนไข้รับยากับพยาบาลได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยก็จะเข้าถึงการบริการสุขภาพเบื้องต้น ได้รับการช่วยเหลือจากพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ

ดร.กฤษดา กล่าวอีกว่า ขีดความสามารถของพยาบาลถูกเตรียมมาเพื่อประเมินปัญหาของผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างรอบด้านอยู่แล้ว ทั้งด้านกาย ใจ อารมณ์ สังคม และครอบครัว เพื่อให้มุ่งตอบสนองต่อปัญหาของผู้ป่วยและคนไข้ ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำ การรักษาโรคเบื้องต้น รวมถึงการช่วยเหลือกรณีที่ต้องใช้ยาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อบรรเทาอาการ หรือเมื่อเกินขีดความสามารถของพยาบาบล ก็จะส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุด

"เป็นการยกระดับการทำงานของพยาบาลวิชาชีพกว่า 2 แสนราย และพยาบาลเวชปฏิบัติอีกกว่า 2 หมื่นคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริการสุขภาพให้กับประชาชน อีกทั้ง พยาบาลเป็นบุคลากรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดในระบบสุขภาพ ซึ่งการขยายขอบเขตการทำงานของพยาบาล ก็เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ" อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 กล่าว

Attach Files