ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลไทยหมดไฟ เหนื่อยล้า ค่าตอบแทนไม่สัมพันธ์กับภาระงาน จนเกิดเป็น ภาวะสมองไหล ที่ทำให้พยาบาลหลายคนเลือกเดินออกจากระบบราชการ แล้วหันหน้าไปซบภาคเอกชนแทน หรือบางคนเลือกจะมุ่งหน้าไปต่างแดนเพราะ “สวัสดิการดีกว่ามาก”

ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะเรียกร้องต่อทั้งองค์กรวิชาชีพ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาตลอด เช่นเดียวกับที่ พว.ศราวุธ คตวงค์ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า เคยยื่นเรื่องปัญหานี้เข้าไปยังสภาการพยาบาลแล้ว และสภาการพยาบาลก็ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการของสภาการพยาบาล ซึ่งทางสภาเองก็มองเห็นถึงปัญหา และตามเรื่องนี้มาโดยตลอด

พว.ศราวุธ อธิบายให้ฟังตลอดการสัมภาษณ์ว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่เจอปัญหาเหล่านี้จังๆ กับตัว ภาระงานของพยาบาลค่อนข้างหนัก และเป็นที่ทราบกันดีว่าในบางครั้งพยาบาลยังต้องทำงาน เกินขอบเขตหน้าที่ โรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งที่มีบุคลากรไม่มาก พยาบาลต้องทำตั้งแต่เปิดบัตรไปจนถึงคิดเงินเลยทีเดียว

ขณะเดียวภาระงานของพยาบาลอีกหนึ่งอย่างก็คือ “เอกสาร และการประเมินต่างๆ” ทำให้งานพยาบาลไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องทำเอกสารให้มีคุณภาพอีกด้วย แม้ว่าการบันทึกข้อมูลลงเอกสารจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลเสียที่ตามมาคือการที่ยังพะว้าพะวังอยู่กับเอกสารว่าจะมีความครอบคลุมหรือไม่อย่างไรนั้น ทำให้เวลาที่จะใช้ในการดูแลผู้ป่วยมีน้อยลง

จริงๆ เราควรจะลดภาระงานเอกสารเพื่อที่จะมีเวลาไปดูแลคนไข้ได้มากขึ้น แต่ประเทศไทยนั้นกลับกันเพราะยังต้องดูเรื่องงานเอกสารด้วย

มากไปกว่านั้น พยาบาลยังถือว่าเป็นด่านหน้าที่รับแรงกระแทกจากทุกอย่าง รวมถึงยังต้องดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับปฐมภูมิตลอดต่อเนื่องไปถึงที่บ้านเมื่อมีผู้ป่วยรออยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลประจำอำเภอเวลาออกพื้นที่บางครั้งก็ไม่มีแพทย์ไปออกด้วย เพราะแพทย์เองก็มีน้อยเช่นกัน บางครั้งการอยู่เวรนอกเวลามีเพียงแค่ 1 คนแต่ต้องดูทั้งโรงพยาบาล ทำให้การออกพื้นที่จึงเป็นหน้าที่ของพยาบาล และกลับเข้ามาในโรงพยาบาลเพื่อประเมินผู้ป่วยอีกครั้ง ซึ่งนั่นทำให้งานพยาบาลคือทุกอย่างของวงจร

หากช่วงไหนไม่มีเวร On Call ก็ยังต้องผวากับเสียงโทรศัพท์ที่ไม่รู้มาเมื่อไหร่ ในโรงพยาบาลชุมชนนั้นการจัดเวรฯ จะมีแค่คนเดียว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ต้องออกรับ หรือส่งต่อผู้ป่วยพร้อมกันก็อาจจะต้องมีการโทรตามกัน ทำให้เกิดอาการจิตตก ผวา ระแวง และเบียดเบียนเวลาพักผ่อน

ขณะเดียวกัน ค่าแรงที่ได้รับก็ไม่สัมพันธ์กับภาระงานที่ต้องแบกรับ และอีกส่วนที่เป็นปัญหาคือการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา เพราะเงินในส่วนนี้จะมาจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล และเห็นได้เลยว่าค่าล่วงเวลาของพยาบาลที่ต้องได้รับของในโรงพยาบาลแต่ละจังหวัด หรือพื้นที่ไม่เท่ากัน

ค่าแรงก็ยังเหมือนเดิมกับ 10-20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 15 บาท จนตอนนี้ 45-50 บาทแล้ว ค่าโอทีก็ยังเท่าเดิม ไม่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันด้วยภาวะเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น พยาบาลคงจะได้แค่หาเงินไปเติมน้ำมันเพื่อขับรถมาทำงานและเติมน้ำมันอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน WHO ยังเคยระบุว่าจะเกิดภาวะสมองไหล และภาวะหมดไฟในกลุ่มพยาบาลหลังจากสถานการณ์โควิด-19 และไหลออกไปยังที่ที่ดีกว่า เช่น ประเทศที่ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการดีกว่า หรือพยาบาลในประเทศที่กำลังพัฒนาก็กำลังไหลออกไปอยู่ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน

ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีพยาบาลหลายคนเลือกที่จะหันหน้าออกจากระบบแล้ว

อย่างไรก็ดี พยาบาลไทยนั้นมีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และจะเห็นได้ว่าพยาบาลที่เก่งๆ และตั้งใจทำงานส่วนมากก็ลาออกไป เพราะในหน่วยงานนั้นจะเก่งข้ามขั้นไม่ได้ เพราะมีระบบทั้งระบบอาวุโส ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงานกั้นอยู่

ขณะเดียวกันการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานก็น้อยมาก ซึ่งตำแหน่ง C8 ใน 1 โรงพยาบาลจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับสหวิชาชีพอื่นๆ พยาบาล C8 ไม่กี่คน ที่เหลือเป็นแค่ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เมื่อเป็นแบบนั้นก็ไม่มีใครอยากอยู่ แม้จะทำงานจนถึงอายุ 60 แต่ได้แค่ C7

ปัจจุบันจะเห็นว่าพยาบาลจบใหม่ต่อให้จบมาในตำแหน่งที่เป็นเด็กทุนก็ยังไม่ได้บรรจุ บางที่มีพยาบาลรายวันทำงานอยู่เยอะมาก ซึ่งในโรงพยาบาลผมเองก็มีพยาบาลทำงานรายวัน ความมั่นคงไม่มี ขนาดรายเดือนยังมีน้อยและยิ่งรายวันยิ่งแล้วใหญ่ สวัสดิการต่างๆ ความมั่นคง

พยาบาลจบมาใหม่พอเห็นว่าเป็นรายวันก็เลยรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพสวัสดิการไม่โอเคเขาก็เลยออกไปอยู่เอกชน เด็กทุนบางคนยอมเสียค่าทุนเอง จ่ายทุกอย่างเองเพราะคิดว่าตัวเองไม่มั่นคงก็เลยผันตัวไปหาเงินเอกชนได้เงินสูงๆ เพื่อนำเงินไปซื้อประกันให้ตัวเองผมว่ามันดีกว่าสวัสดิการรายวันที่มีอยู่ในโรงพยาบาล

พว.ศราวุธ เคยคิดที่อยากจะลาออกเช่นกัน เพราะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นภาระงานที่หนัก ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม การพักผ่อนที่เพียงพอสะสมจนเกิดการเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลากินอาหารพร้อมครอบครัวเหมือนอย่างคนอื่น จะหยุดก็ต้องขอล่วงหน้าเป็นเดือน  เมื่อครอบครัวป่วยก็ดูแลได้ไม่เต็มที่ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ตั้งใจส่งมาเรียนเพื่อคิดว่าจะกลับไปดูแลท่านได้ แต่ตรงกันกันข้าม เพราะตอนนี้ดูแลพ่อแลพ่อแม่คนมากกว่าพ่อแม่ตัวเอง

แม้ว่าพยาบาลหลายคนต้องประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่ก็ไม่ค่อยกล้าออกมาเรียกร้องอะไร เพราะความเคยชิน และการถูกกดขี่ หลายคนกลัวว่าถ้าออกมาเรียกร้องแล้วจะเกิดผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะออกมาแม้จะได้รับผลกระทบก็ตาม

ผมเชื่อว่าพยาบาลหลายคนอยากเรียกร้อง แต่ปัจจุบันเสียงยังมีน้อย บางคนอยากออกมาเรียกร้องแต่ไม่กล้า ก็ทำให้เสียงเรียกร้องเบามาก แต่พอสังเกตตามเพจต่างๆ จะมีคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้อง อีกบางส่วนก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร

ส่วนนี้ทำให้ พว.ศราวุธ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่เคยทนไม่ไหว และมีความคิดอยากจะปฏิวัติใหม่ทำให้ผันตัวเองเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาการพยาบาล

ผมก็พยายามสู้เพื่อผู้ปฏิบัติงาน

ท้ายที่สุดคงถึงเวลาที่จะต้องใช้เสียงของทุกคนเพื่อปฏิวัติระบบกระทรวงสาธารณสุขใหม่อีกครั้งเพื่อให้เห็นถึงปัญหาจริงๆ หากมีการขึ้นค่าตอบแทนที่เหมาะสม การเพิ่มตำแหน่ง สวัสดิการและความก้าวหน้าพยาบาลในภาครัฐก็ยินดี

ที่ออกมาเรียกร้อง ผมออกมาเรียกร้องในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาระงาน จากค่าตอบแทนต่างๆ ผมก็คงทำจนกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงพว.ศราวุธ ระบุ