ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด มท. เปิดประชุม คณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ อบจ. มุ่งหวังยกระดับ "รพ.สต." ในสังกัดท้องถิ่น สู่ศูนย์การบริการสุขภาพของประชาชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการประชุมหารือภารกิจเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่จะทำให้การถ่ายโอนหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุข ทั้งด้านการป้องกัน การให้การรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เพื่อการให้บริการพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

"การประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือการทำให้ อบจ. สามารถสนับสนุน รพ.สต. ให้มีการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการได้ตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยทาง มท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนกลางให้การสนับสนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินการถ่ายโอน รพ.สต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการถ่ายโอนบุคลากรในสังกัด และการถ่ายโอนงบประมาณ" นายสุทธิพงษ์ ระบุ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า มท.ได้ทำการประเมินและรวบรวมปัญหาและอุปสรรคการถ่ายโอน รพ.สต. จาก อบจ.ทั่วประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ที่มาในวันนี้ได้รับทราบและร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขต่อไป ดังนั้นคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้ จึงมีความสำคัญในการได้ใช้โอกาสร่วมกันนำเสนอแนวทางที่จะช่วยสนับสนุน เพื่อทำให้การบริการประชาชนของ รพ.สต. มีคุณภาพการบริการดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

1

นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของบุคลากรที่ไม่ประสงค์จะโอนสังกัดมาสู่ อปท. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจาก รพ.สต. ได้ถ่ายโอนมาที่ อปท.แล้ว แต่บุคลากรที่ไม่ประสงค์โอนสังกัดยังคงมีอัตราอยู่ แต่อำนาจหน้าที่และงานของบุคลากรไม่มีแล้ว จึงต้องทำให้อัตราบุคลากรเป็นอัตราเฉพาะ

นอกจากนี้ในเรื่องวินัยด้านการเงินการคลังที่กำหนดระบุชัดเจนว่า หน่วยงานต้องมีงบประมาณในด้านบุคลากรภาครัฐไม่เกิน 35% จึงเป็นอุปสรรคในการจัดจ้างบุคลากรมาทดแทน  เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ มีงานมา แต่บุคลากรและงบประมาณไม่มา ก็ต้องมีการจ้างคนเพิ่ม ดังนั้นเราต้องกำหนดรายรับเรื่องค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐให้เพียงพอ โดยทำให้รายรับและรายจ่ายสมดุลกัน ในส่วนที่ยังพบปัญหา ก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

พร้อมกันนี้ยังต้องส่งเสริมให้ รพ.สต. เป็นพื้นที่กลางในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมให้มีสวนสมุนไพรประจำ รพ.สต. ซึ่งเป็นเรื่องที่ มท.ผลักดันขับเคลื่อนอยู่ แต่ยิ่งกว่านั้นคือการทำให้เกิดขึ้นในทุกครัวเรือน เช่น "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และการส่งเสริมให้ใช้พื้นที่สาธารณะอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" รวมไปถึงการจัดทำ "ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน" โดยมีพื้นที่ตัวอย่างเช่นที่ อบต.โก่งธนู จ.ลพบุรี

"ขอขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่านที่มาร่วมประชุม และจะต้องมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง จนกว่าภารกิจการถ่ายโอน รพ.สต. มาที่ อปท. จะเกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าเดิมนั้นจะดีอยู่แล้ว แต่เมื่อ รพ.สต.มาอยู่กับ อปท. เราต้องทำให้ดีกว่าเดิม บุคลากรที่มาอยู่ต้องมีความสุข เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข ประเทศชาติมั่นคง" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

2

สำหรับคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะของทุกท่าน นำไปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คือ คณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ

"พวกเราจึงเป็นทีมงานสำคัญที่ทำให้เรามีข้อมูลที่เปรียบเสมือนอาวุธ เข้าไปพูดคุยหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อเสนอแนะให้เกิดนโยบายที่สนองตอบประชาชนในพื้นที่ได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก คือการสนับสนุนด้านการบริการสาธารณสุขปฐมภูมิให้ดีที่สุดให้ได้ เพื่อยกระดับ รพ.สต. สู่ศูนย์การบริการสุขภาพของประชาชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และ รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันนำเสนอผลการศึกษาตัวแบบระบบสุขภาพปฐมภูมิในสังกัด อบจ. ที่พึงประสงค์ โดยได้ยกตัวอย่างต้นแบบการดำเนินการในพื้นที่ อบจ.สุพรรณบุรี และ อบจ.ปราจีนบุรี ในเรื่องการทดลองนำร่อง “หน่วยบริหารระบบสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ.” และตัวแบบ “ศูนย์สุขภาวะชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าการขับเคลื่อนภารกิจ รพ.สต.ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) 4 ประเด็น ดังนี้ 1. ทบทวนระเบียบและข้อบังคับของ อบจ. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและจูงใจในด้านต่างๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ถ่ายโอนมา 2. ทบทวนโครงสร้างส่วนราชการภายใน อบจ.ให้สามารถรองรับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นและปรับตัวอย่างยืดหยุ่นตอบสนองการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน

3. เตรียมความพร้อม อบจ.ในการดูแลระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรองรับการดูแลระบบสุขภาพในขั้นทุติยภูมิต่อไป และ 4. ขอความร่วมมือ มท. สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และ อบจ. ในการคิดค้นและขับเคลื่อนงานด้านคุณภาพชีวิตและการสร้างเครือข่ายสถานีสุขภาพ เพื่อให้สร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน รวมถึงการขยายผลการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในระดับชุมชน

3

ด้าน นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อบจ.มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นท้องที่ ซึ่งหลังจากที่ รพ.สต. ถ่ายโอนมาแล้วกว่า 80% ทำให้เราได้รับความร่วมมือเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ (Partnership) ส่งผลต่อการบริการพี่น้องประชาชน แม้ว่าเรื่องบุคลากรจะมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากว่าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันออกไป

"ทางสมาคมฯ เราต้องการยกระดับการบริการ รพ.สต. ให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยมีพื้นที่ต้นแบบใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเรามีแผนจะพัฒนาการบริการหมอตู้ออนไลน์ สามารถบริการพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชม. โดยให้ประชาชนสามารถพบหมอออนไลน์ (Tele Medicine) และเมื่อหมอสามารถสั่งจ่ายยาผ่านตู้ได้ ช่วยประหยัดค่าจัดจ้างบุคลากร ประหยัดเวลา และตอบสนองประชาชนได้ตลอดเวลา" นายบุญชู ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การยกระดับ รพ.สต. เป็นศูนย์การบริการสุขภาพประชาชน ที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมอาชีพ โดยให้ อสม. ในพื้นที่ที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน ให้การส่งเสริมทักษะเพื่อต่อยอดสู่การจัดจ้างให้ประกอบอาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชสมุนไพร โดยการรับซื้อพืชสมุนไพรจากพี่น้องประชาชน การปลูกพืชผักสวนครัว โดยให้ รพ.สต. เปิดร้านค้า และนำสินค้าชุมชนจากประชาชนมาวางขาย ส่งเสริมอาชีพ ให้ประชาชนมีรายได้มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

4

อนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้ตรวจราชการสานักนายกรัฐมนตรี นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสารสิน ศิริถาพร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภารณ์ นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย รศ.ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเสรี เพ็งสาท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายณัฐพล ทองไหล กรรมการบริหารสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และผู้แทนหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทยสภา สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม