ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ “ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามนโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข” ทั้งในส่วนของหลักการ ทางเลือกรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ และการดำเนินการต่อไป

ก่อนจะมาเป็นข้อเสนอ

สำหรับข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวัน 19 ต.ค. 2564

ทั้งนี้ ประกาศ ก.ก.ถ. ให้มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารงบประมาณด้านสาธารณสุขของ อบจ. โดยให้ สปสช. และ สธ. ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และดำเนินการซักซ้อมความเข้าใจให้แก่หน่วยบริการประจำแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิยึดถือปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณฯ

นั่นทำให้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการงบกองทุนฯ ตามนโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข เพื่อจัดทำข้อเสนอรวมถึงกำกับติดตามประเมินผลการบริหารจัดการงบประมาณ

ถัดจากนั้น ในวันที่ 20 ม.ค. 2565 คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่างข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการงบกองทุนฯ ตามที่คณะทำงานได้นำเสนอ และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์​ สปสช. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565

ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการงบกองทุนฯ

หลักการคือ รพ.สต.ยังคงสถานะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นเครือข่ายหน่วยบริการในระบบบัตรทอง แม้มีการโอนไปยัง อบจ.แล้ว โดยอาจเป็นเครือข่ายกับหน่วยบริการสังกัด สธ. (รพช. รพท. รพศ.), เครือข่ายกับหน่วยบริการนอก สธ., เครือข่ายกันเอง หรือเครือข่ายกับหน่วยบริการเอกชน

สำหรับทางเลือกรูปแบบการจัดสรรงบกองทุนฯ ให้กับหน่วยบริการปฐมภูมินั้น มีด้วยกัน 2 ทางเลือกใหญ่ ได้แก่ 1. จัดสรรงบผ่านหน่วยบริการประจำ (CUP) แบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 2. โอนงบประมาณตรงให้ รพ.สต. ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกับหน่วยบริการประจำ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ดำเนินการกรณี สปสช. เขต 13 กทม. และ 3. ทางเลือกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกเหล่านี้สามารถเลือกได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการเหมือนกันทุกแห่ง

ในส่วนของการดำเนินการต่อไปนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สปสช. ประสาน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการจัดหานักวิชาการเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการกำกับติดตามประเมินผลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ รพ.สต. และสถานีอนามัยฯ ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. รวมทั้งที่ถ่ายโอนไปยัง อบต. และ เทศบาล ที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ ยังให้ศึกษาข้อเสนอทางเลือกอื่นๆ ในการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดระยะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2565 เพื่อนำข้อเสนอมาปรับใช้ในการบริหารจัดการงบกองทุนฯ ตามนโยบายการกระจายอำนาจต่อไป

พร้อมกันนี้ บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มองค์ประกอบคณะทำงานฯ ได้แก่ ผู้แทน สวรส. ผู้แทนชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ผู้แทนชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดด้วย