ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ระบุ มี อบจ. 52 จังหวัด ยื่นประเมินศักยภาพรับถ่ายโอนภารกิจฯ คาดมี รพ.สต. ราว 3,000 แห่ง แสดงความประสงค์ย้ายไปท้องถิ่น พร้อมตั้งคณะทำงาน 4 ชุด ลงพื้นที่ ดีเดย์ 18 พ.ย.นี้ ประเดิม ‘นนทบุรี’ จังหวัดแรก


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า ตัวเลขจำนวนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยื่นขอประเมินศักยภาพรับการถ่ายโอนภารกิจฯ พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 52 จังหวัด ส่วนจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่แสดงความประสงค์นั้น ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีราว 3,000 แห่ง จากทั้งหมด 9,700 แห่ง

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สำหรับวาระการประชุมในวันนี้ เป็นการพูดคุยเรื่องการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อตรวจประเมินความพร้อม โดยเบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 4 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1. มี รศ.ธนพร ศรียากูล เป็นประธาน ชุดที่ 2. มี นายณรงค์ เชื้อบุญช่วย เป็นประธาน ชุดที่ 3. มี รศ.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา เป็นประธาน และชุดที่ 4. มี รศ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ เป็นประธาน

สำหรับการลงพื้นที่เพื่อประเมินศักยภาพ อบจ. ของคณะทำงานแต่ละชุดนั้นจะแบ่งออกเป็นรายภาค แต่ก็จะมีบางภาคที่อาจเหลื่อมกัน เช่น ชุดที่ดูแลภาคอีสานจะประเมินเพิ่มในอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งก็คือ จ.สระแก้ว เนื่องจากพื้นที่ติดกัน และการเดินทางสะดวกกว่า

“ผมมอบให้แต่ละทีมพิจารณาว่าจะมีวิธีการลงประเมินอย่างไร บางทีมจะลงประเมินทุกจังหวัด เช่น ภาคอีสาน แต่ก็จะมีภาคใต้และภาคเหนือ เนื่องจากพื้นที่ห่างไกลกันก็จะนัดรวมไปประเมินที่จังหวัดเดียว แต่จะประเมินกันคนละเวลาไม่ได้เป็นการประเมินรวมกัน” นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมคณะทำงานทุกชุดจะต้องประเมินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 พ.ย. 2564 โดยในวันที่ 29 พ.ย. 2564 จะต้องรายงานการประเมินมาที่สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะในวันที่ 30 พ.ย. 2564 คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบตามที่คณะทำงานได้ลงพื้นที่ประเมินศักยภาพไว้ว่าในแต่ละ อบจ. จะผ่านเกณฑ์ในระดับใด

“คณะทำงานชุดที่ 1 จะออกประเมินในวันที่ 18 พ.ย. 2564 เป็นชุดแรก โดยภาคเช้าจะเริ่มต้นจาก จ.นนทบุรี เป็นจังหวัดแรก สำหรับเกณฑ์การประเมินนั้นจะประกอบไปด้วย 6 ตัวชี้วัด 5 ด้าน ซึ่งก็เป็นไปตามคู่มือแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ” นายเลอพงศ์ กล่าว

วันเดียวกัน นายเลอพงศ์ ได้ลงนามในคำสั่งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 แต่งตั้ง “คณะทำงาน” เพื่อตรวจประเมินความพร้อมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

สำหรับคณะทำงานเพื่อตรวจประเมินฯ จะมีหน้าที่และอำนาจ 4 ประการ ได้แก่

1. ตรวจประเมินความพร้อมของ อบจ.ในพื้นที่ ซึ่งได้ยื่นความประสงค์ขอรับการประเมินความพร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจฯ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ โดยกำหนดพื้นที่การตรวจประเมินคือ คณะที่ 1 เขตพื้นที่ภาคใต้ คณะที่ 2 เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะที่ 3 เขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก คณะที่ 4 เขตพื้นที่ภาคเหนือ

2. จัดทำบัญชีรายชื่อและผลการประเมินความพร้อมของ อบจ. ที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมฯ และรายงานต่อคณะอนุกรรมการฯ

3. ประสานและขอให้ส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมินความพร้อม อบจ. ส่งข้อมูลหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องหรือให้มาชี้แจง ใหข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

4. ดำเนินการอื่นใด ตามที่คณะอนุกรรมการฯ มอบหมาย

สำหรับคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง จะแบ่งออกเป็น 4 คณะ ประกอบด้วย

คณะที่ 1 มี รศ.ธนพร ศรียากูล เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงานมีด้วยกัน 6 คน ได้แก่ นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, นพ.อนุวัตร แก้วเชียงหวาง, นายพงศ์เทพ จันทรัคคะ และ นายวรพงศ์ อุตทานนท์ตรี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ

คณะที่ 2 มี นายณรงค์ เชื้อบุญช่วย เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงานมีด้วยกัน 5 คน ได้แก่ นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย), นายวิทยา โชคเศรษฐกิจ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ, นายฉลองกรุง ภคกุล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ

คณะที่ 3 มี รศ.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงานมีด้วยกัน 9 คน ได้แก่ นางณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย, นายสุพจน์ อาลีอุสมาน ผู้แทนกรมอนามัย, นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนายการกองสาธารณสุขท้องถิ่น, นายทิวากร พิศาลสฤษดิกรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐาน, นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ ผู้แทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, นางปริมพร อ่ำพันธุ์ ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย, ผศ.ดร.อังสนา บุญธรรม, น.ส.ภัชร์จิรัสม์ ธัชเมฆรัตน์, นายขจรศักดิ์ เชาวะวณิช ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ

คณะที่ 4 มี รศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงานมีด้วยกัน 6 คน ได้แก่ นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, นายสุรพล เจริญภูมิ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, นายทองดี มุ่งดี ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายพิเชษฐ์ หนองช้าง ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, นายเชาวลิต นาคสวัสดิ์ ผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, น.ส.ธนสร บัวทอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ