ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนกลุ่มพยาบาล 166 คน จากหลายโรงพยาบาล ใน จ.ศรีสะเกษ ยื่นหนังสือผ่าน ส.ส.พรรคภูมิใจ ฝากไปยัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ต้องการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

นายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขุนขันธ์ จ.ศรีสะเกษ  เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงกรณีการยื่นหนังสือให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ไปถึงนายอนุทิน ตอนหนึ่งว่า การยื่นหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์แก่ รมว.สธ. ว่าต้องการขอถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. ตามที่ได้ยื่นความประสงค์ขอถ่ายโอนฯ ในรุ่นที่ 2 ไปแล้วเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการขอถ่ายโอนฯ นั้นก็เพื่อต้องการลงไปทำงานแนวหน้ากับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ได้มีการถ่ายโอนไปแล้วในรอบที่มา

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา นายสุระพล นามวงค์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้ประสานงานภารกิจถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ. ก็ได้ทำหนังสือ แสดงเจตนารมณ์ขอถ่ายโอนตามขั้นตอนการดำเนินการถ่ายโอนฯ ถึง อบจ.ศรีสะเกษ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตอนหนึ่งของหนังสือฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปได้ศึกษารายละเอียดและเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามาตรา 250 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณสุขและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกและขั้นตอนในการกระจายหน้าที่และอำนาจ

นอกจากนี้ ยังเข้าใจเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. กำหนดแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนการกระจายอำนาจฯ (ฉบับที่ 2) กำหนดให้ สธ. ถ่ายโอน สอน. โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปให้แก่ อปท. ที่มีความพร้อม และในระยะสุดท้ายให้ถ่ายโอนฯ ให้แก่ อบจ. เป็นอย่างดี จึงขอยืนยันการใช้สิทธิขอถ่ายโอนฯ ตามที่เคยได้ยื่นความประสงค์ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ (นพ.สสจ.ศรีสะเกษ) ก็ได้ระบุถึงกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจำนวนหนึ่งของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนในจ.ศรีสะเกษ ที่ยื่นเรื่องต่อนายก อบจ. ประสงค์ขอโอนย้ายไปที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ตอนหนึ่งว่า การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้เป็นการถ่ายโอนภารกิจปฐมภูมิ ดังนั้น บุคลากรที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอนได้ จึงต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิ คือ บุคลากรของ สอน. รพ.สต.เท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา จ.ศรีสะเกษได้มีการลงนามถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 117 แห่ง ไปสังกัด อบจ. เรียบร้อยแล้ว โดยมีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไปทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน

อย่างไรก็ดี การที่บุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ขอถ่ายโอนไปนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามหลักการถ่ายโอนภารกิจแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ หากตัดโอนตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ไป จะส่งผลให้ทุกโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นต้องปิดแผนก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน

นายแสวงชัย กล่าวว่า เมื่อยื่นหนังสือไปยัง อบจ.ศรีสะเกษแล้ว ซึ่งก็ได้คำตอบว่ายินดีรับโอนย้ายทุกคนหากสำนักปลัด สธ. อนุมัติให้ถ่ายโอน และมีความหวังว่าน่าจะไปได้ แต่ก็มีการสร้างเงื่อนไขมาว่าไม่เข้าข่าย ส่วนเรื่องเมื่อย้ายไปแล้วจะทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรอย่างหนักนั้นส่วนตัวมองว่าไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะคนที่ประสงค์ถ่ายโอนฯ มาจากหลายโรงพยาบาล ซึ่งมีเพียงโรงพยาบาลแห่ง 1 คน 2 คน 3 คนกระจายกันไปเท่านั้น ไม่ได้ไปเพียงแห่งเดียว

ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดแคลนบุคากร เพราะถ้าหากเทีบกับอัตราพยาบาลต่อโรงพยาบาลแล้ว เช่น โรงพยาบาลบางแห่งมีอัตราอยู่หลายร้อยคน แต่มีเพียงพยาบาล 4 คนเท่านั้นที่แสดงเจตนารมณ์ถ่ายโอน ฉะนั้นจะปิดแผนกหรือปิดฝ่ายได้อย่างไร

นอกจากนี้ ในการถ่ายโอนรุ่นแรกก็มีคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุข สธ. หากจะมีการคัดค้านว่าไม่เข้าข่ายก็น่าจะไม่ได้ไปตั้งแต่รุ่นแรก แต่ก็เห็นว่ามีการอนุมัติไม่ได้มีการคัดค้าน จึงได้มีการยื่นความจำนงตามไปในรุ่นที่ 2

“อยากให้สำนักงานปลัดฯ ปล่อยพวกเราไป ก็คืออนุมัติให้เราไปทำงานกับ อบจ. ที่ รพ.สต. ให้อนุญาตให้เราไปได้เหมือนรุ่นหนึ่ง เพราะพวกเราก็ยืนยันเจตนารมณ์เดิมว่าอยากถ่ายโอนไปจริงๆ อยากไปทำงานจริงๆ อยู่ไหนก็ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนเหมือนกัน ทุกคนก็ยืนยันตรงกันหมดว่าอยากออกไปด้วยใจจริง อยากทำงานจริงๆ” นายแสวงชัย ระบุ

อนึ่ง สำหรับข้อมูลการถ่ายโอนฯ ในรอบที่ 2 จ.ศรีสะเกษนั้น มีผู้แจ้งความประสงค์ขอถ่ายโอนแล้ว 194 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีพยาบาลจำนวน 119 คน

22