ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วย 50(5) จ.สุรินทร์ เผยใช้กลไกคณะทำงานคุ้มครองสิทธิระดับจังหวัดซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน คอยประสานความร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาเมื่อมีข้อร้องเรียนระหว่างผู้รับบริการและหน่วยบริการ


นางมีนา ดวงราษี ที่ปรึกษาหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.สุรินทร์ หนึ่งในหน่วย 50(5) ที่มีการทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.สุรินทร์ พัฒนามาจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ทำหน้าที่ตามบทบาทภารกิจที่กฎหมายกำหนด ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน การประสานเครือข่ายในพื้นที่ และพัฒนาระบบบริการสุขภาพร่วมกับหน่วยบริการ

นางมีนา กล่าวว่า จุดแข็งของหน่วยคือการแก้ไขปัญหาแก่ผู้รับบริการอย่างรวดเร็ว และการจัดการปัญหาแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการ โดยใช้กลไกคณะทำงานคุ้มครองสิทธิของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะมีตัวแทนจากหลายส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมีผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขเป็นประธาน ผู้แทนหน่วย 50(5) เป็นเลขานุการ และตัวแทนจากโรงพยาบาลใน 17 อำเภอของ จ.สุรินทร์ เมื่อมีการร้องเรียนก็จะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขปัญหา 

2

สำหรับตัวเลขการรับเรื่องร้องเรียน หากเป็นข้อร้องเรียนขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 จะมีประมาณ 6-7 เคส/ปี แต่หากเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง เฉลี่ยประมาณ 5-6 ราย/เดือน และกรณีถูกเรียกเก็บเงินอีกประมาณ 2-3 ราย

“การทำงานในช่วงแรกๆ ก็อาจมีความเข้าใจผิดหรือความไม่เข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เช่น เรื่องมาตรา 41 หน่วยบริการอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ทำให้ผู้ให้บริการเสียกำลังใจ แต่เมื่อทำงานไป เรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิสุขภาพ มีการเชิญผู้ให้บริการมาพูดคุยให้เห็นภาพการทำงานของเรา ก็ทำให้เกิดการยอมรับและทำงานร่วมกันได้อย่างดีมากๆในปัจจุบัน”นางมีนา กล่าว

2

3

อีกประเด็นที่หน่วย 50(5) ขับเคลื่อนได้ดีคือการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งพบหลายเคสในพื้นที่ ทั้งเคยมีบัตรประชาชนแต่แต่หนีทหารทำให้ไม่ได้ไปต่ออายุบัตร หรือบางคนไม่เคยแจ้งเกิด ต้องไปตรวจ DNA เป็นต้น คนกลุ่มนี้มักจะพบตัวเมื่อมีปัญหาสุขภาพต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งองค์กรบริหารส่วนจังหวัด ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือบุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้ได้บัตรประชาชนแล้วประมาณ 10 ราย 

ในส่วนของการขยายงานเครือข่ายการให้ความรู้และคุ้มครองสิทธินั้น 17 อำเภอของ จ.สุรินทร์ มีบางอำเภอที่มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเพียงตำบลเดียว แต่ก็มีบางอำเภอที่มีศูนย์ประสานงานฯในทุกตำบล ซึ่งปัญหาหลักในการขยายงานเพราะหาบุคลากรยาก เพราะบุคลากรส่วนมาเป็นจิตอาสา เข้ามาแล้วก็ออกทำให้บางพื้นที่ขาดบุคลากร ประกอบกับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ที่ยังน้อย อย่างไรก็ดี ในส่วนของตำบลที่มีศูนย์ประสานงานฯนั้น จะมีตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านการคุ้มครองสิทธิ รวมทั้งทีมระดับตำบลจะส่งเคสในพื้นที่ให้แก่หน่วย 50(5) ด้วย 

4

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ