ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จับมือ วิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ “หลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ยกระดับงาน “ศูนย์องค์รวม” สู่ “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี มาตรา 3 ในระบบบัตรทอง” หนุนเสริมการดูแลโดยแกนนำศูนย์องค์รวม มีผู้ผ่านการอบรมรุ่นที่ 1 แล้ว 46 คน พร้อมรับมอบประกาศนียบัตร


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย จัดงานมอบประกาศนียบัตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รุ่นที่ 1 พ.ศ. 2565” เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 ที่ โรงแรมทีเค.พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กทม. โดยร่วมกับวิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กอพ.) กรมควบคุมโรค โครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ (UNAIDS) และ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยมีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 46 คน ซึ่งเป็นแกนนำจาก “ศูนย์บริการแบบองค์รวม” (ศูนย์องค์รวม) จำนวน 22 แห่ง จาก 12 จังหวัด

ทั้งนี้ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายการศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรรมการหลักประกันสุขภาพจากภาคประชาชน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สปสช. พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อานวยการกองโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อานวยการโครงการเอดส์สหประชาชาติ ประจาประเทศไทย และ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ประธานหลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และอดีตคณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มอบใบประกาศนียบัตรฯ ให้กับผู้ผ่านหลักสูตรอบรมครั้งนี้

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ประธานหลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนฯ กล่าวว่า แนวคิดการจัดทำหลักสูตรฯ คือการนำความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีมารวมกัน และจัดการเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการศึกษา ซึ่งได้ทำเป็นหลักสูตร นำไปสู่การทำงานในรูปแบบของการช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ขณะเดียวกันทำให้ผู้ถูกดูแลมั่นใจและเชื่อมั่นได้

หลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ยังมีความสำคัญสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ในอนาคตด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับและความเป็นมาตรฐานในการทำงานร่วมกับวิชาชีพด้านสุขภาพ ภายใต้ “ศูนย์องค์รวม” เชื่อมต่อการดูแลผู้ติดเชื้อกับโรงพยาบาล และเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขโดยการมีส่วนรวมของภาคประชาชน ทำให้สามารถรับการกระจายทรัพยากรต่างๆ ในระบบสุขภาพเพื่อมาทำงานได้

“วันนี้เรามีแกนนำกลุ่มและแกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อที่ผ่านการอบรมแล้ว 46 คน ต้องเข้าใจว่าการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่แค่การตรวจเลือด ไม่ใช่แค่การให้กินยา แต่ทำอย่างไรให้ผู้ติดเชื้อใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีความหวังและก้าวข้ามผ่านช่วงชีวิตนี้ และต้องย้ำว่าหลังสูตรอบรมนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ยังคงต้องนำความรู้จากการทำงานของผู้ผ่านการอบรมมาต่อยอดพัฒนา ขณะเดียวกันก็สามารถนำแนวทางหลักสูตรนี้ไปปรับใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้เช่นกัน” พญ.วัขรา กล่าว

1

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรอบรมนี้เป็นไปตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เครือข่ายผู้ติดเชื้อจึงเตรียมความพร้อมพัฒนาแกนนากลุ่มศูนย์องค์รวมเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม ไปสู่การขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 โดยร่วมมือกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ,สปสช. และการสนับสนุนงบประมาณจาก UNAIDS และ USAID/PEPFAR พัฒนาหลักสูตรอบรมขึ้น

ในหลักสูตรอบรมได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทั้งองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ให้กับภาคประชาชนในการดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อแบบองค์รวม ครอบคลุมด้านกาย ใจ และสังคม รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมจัดบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ร่วมกับหน่วยบริการ โดยการอบรมแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคทฤษฎี 45 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติในการทำงานร่วมกับหน่วยบริการ 45 ชั่วโมง รวมเป็น 90 ชั่วโมง ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมต้องผ่านการสอบวัดผลตามเกณฑ์การประเมินผลที่กาหนด

“วันนี้เป็นการมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมรุ่นที่ 1 จำนวน 46 คน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มและแกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เข้าอบรมตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2565 มีความครบถ้วนตามหลักสูตร โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรและเข้ารับประกาศนียบัตรฯ ในวันนี้ และเตรียมเดินหน้าอบรนในรุ่นที่ 2 ต่อไป” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว

นางรัชนี พุทธาจู แกนนำกลุ่มจิตอารีย์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรฯ กล่าวว่า อดีตเราเป็นผู้ป่วยรับการรักษาและทำตามที่คุณหมอแนะนำ ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง จึงรวมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน แบ่งปันความรู้สึก แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงให้กำลังใจกัน ต่อมาจึงร่วมมือกับโรงพยาบาล พลิกบทบาทจาก “ผู้รับบริการ” เป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ”  ทำงานในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” เพื่อให้เพื่อนผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ และสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันเก็ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันศูนย์องค์รวมได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาล ชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นว่าการร่วมจัดและพัฒนาระบบบริการเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนทำได้

“วันนี้เราภาคภูมิใจที่จบหลักสูตรนี้ ซึ่งเป็นการอบรมจำเป็นต่อการทำงานของศูนย์องค์รวม ทั้งเป็นการปักหมุดหมายสำคัญ เพื่อร่วมกันยกระดับการทำงานให้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันยังมีความท้าทายรออยู่ เนื่องจากเรายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่  ยังมีคนที่เข้าถึงการรักษาช้าหรือไม่ได้รักษาตามมาตรฐาน มีปัญหาการตีตรา และยังเพื่อนอีกหลายคนที่ต้องการหนุนช่วยให้ก้าวข้ามและยอมรับการอยู่ร่วมกับเอชไอวีของตนเองให้ได้ ซึ่งหลักสูตรอบรมนี้จะมาช่วยเติมเต็มได้” นางรัชนี กล่าว

2