ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเร่งรีบในตอนเช้าเพราะกลัวไปทำงานไม่ทัน รายรับที่อาจไม่เพียงพอกับการซื้อของกินของใช้ ความกดดันจากสภาพสังคม ที่ทำงานและสิ่งรอบตัว ร้านขายอาหารบริเวณที่อยู่อาศัยมีน้อย และอีกต่างๆ มากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนมีส่วนกำหนด ‘สุขภาพ’ ของคนเราทั้งสิ้น ทั้งในแง่ของสุขภาพกายและจิตใจ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

นอกจากนี้ อาจเป็นเหตุให้นำไปสู่ ‘พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ’ ขึ้นด้วย เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การได้ออกกำลังกายน้อย ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างอาจติดไปในระยะยาวด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ และสิ่งต่างๆ ที่คนเราต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้ได้ นั่นก็คือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพราะสิ่งนี้เองจะทำให้การตัดสินใจไม่ว่าจะการกิน การใช้ชีวิต และการดูแลรักษาสุขภาพ เกิดผลดีที่สุดกับตัวเรา

ทว่า มีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ อันมีต้นเหตุมาจากปัจจัยเบื้องหลังหลากหลายประการ จนท้ายที่สุดทำให้คนกลุ่มนี้อาจเข้าไม่ถึง ‘การมีสุขภาพที่ดี’

จากงานวิจัย การสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ขึ้นไป .. 2562” เผยแพร่โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพ 88.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม 136 คะแนน หรือคิดเป็น 65 %

อย่างไรก็ดี ยังมีคนไทย 19.09% ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ โดยสัดส่วนของคนไทยที่มีความรอบรู้ไม่เพียงพอ พบใน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. เขตสุขภาพที่ 10 เขตสุขภาพที่ 8 และเขตสุขภาพที่ 7 ตามลำดับ 2. ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือช่วงอายุ 46-59 ปี 3. ผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา และรองลงมาคือผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถม

4. ผู้ที่มีรายได้ขัดสน รองลงมาเป็น ผู้ที่มีรายได้พอใช้ในบางเดือน 5. ผู้ที่ไม่บทบาทในชุมชน 6. ผู้ที่เคยตรวจและแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค 7. ผู้ที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจากแหล่งใดเลย รองลงมาได้รับจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และท้ายสุดได้รับจากโทรทัศน์ วิทยุ หรือเสียงตามสาย/หอกระจายเสียง

สำหรับมิติระบบสุขภาพรายการที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ รองลงเป็นบริการสุขภาพ ในส่วนของทักษะความรอบรู้ด้านสสุขภาพด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การเข้าถึง รองลงมาเป็นการทบทวนและซักถาม

คำถามที่มีสัดส่วนคนตอบว่ายาก และยากมาก มากที่สุดมีดังนี้ 1. การเข้าถึง ค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ เกี่ยวกับบริการ ผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องมือเกี่ยวกับสุขภาพที่ออกใหม่ 2. การเข้าใจในคำอธิบายของการบริการ ผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องมือเกี่ยวกับสุขภาพที่ออกใหม่ 3. การทบทวนและซักถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ จากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

4. การตัดสินใจ เพื่อปฏิบัติตามข้อมูลการเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างมั่นใจ และ 5. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การค้นคว้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์และบริกาสุขภาพ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย จากแหล่งที่เชื่อถือได้และรู้ว่าสามารถร้องเรียนได้ที่ไหน

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ประกอบด้วย 1. อายุ 60 ปีขึ้นไป 2. อ่านไม่ได้ 3. เขียนไม่คล่อง 4. ไม่ได้เรียนหนังสือ 5. ไม่มีบทบาทในชุมชน 6. ไม่ได้รับข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ และ 7. ปัญหาทางการได้ยิน

ทั้งนี้ งานวิจัยได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่  1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการศึกษา สังคม และสุขภาพควรมีการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจเรื่องผลกระทบของกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีความรอบรู้ไม่เพียงพอแก่บุคลากรในหน่วยงาน ไปจนถึงผู้กำหนดนโยบาย

2. ควรพิจารณายุทธศาสตร์ใน 2 ลักษณะ ดังนี้ ยุทธศาสตร์มุ่งสร้างความรู้ แรงจูงใจ และทักษะที่จำเป็นต่อการเข้าถึง เข้าใจ ซักถาม และตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล และยุทธศาสตร์ที่ลดความซับซ้อนของระบบบริการต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะมิติผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ การบริการสุขภาพ รวมถึงออกแบบให้ระบบหนุนเสริม อำนวยความสะดวก และเพิ่มอำนาจให้กับพลเมืองในการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด

3. หน่วยงานด้านการศึกษาควรฝึกทักษะการอ่านและเขียนข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพให้แก่นักเรียน โดยเฉพาะที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก 4. หน่วยงานด้านการศึกษา สังคม และสุขภาพ ควรออกแบบระบบบริการให้มีความซับซ้อนน้อยลง โดยคำนึงถึงผู้ใช้บริการที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เช่น ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาลงมา

5. ควรกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุน ให้คนในชุมชนมีบทบาท หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มชมรมในชุมชน 6. หน่วยงานในทุกระดับควรพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการที่น่าเชื่อถือให้เหมาะสมกับผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เช่น การสื่อสารประชาสัมพันธ์อธิบายขั้นตอนต่างๆ เพื่อกระตุ้นเกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

7. ควรปรับหลักสูตร รูปแบบการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคการศึกษา สังคม รวมถึงสุขภาพเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ อีกทั้งควรทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยหรือสนับสนุนในกระบวนการตัดสินใจกมากกว่าที่จะเป็นผู้ตัดสินแทน

อนึ่ง อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : การสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป พ.ศ. 2562 (hsri.or.th)