ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิ SWING จี้ สธ. เร่งแก้ปัญหาหลัง สบส. ออกแนวทางกั้น “องค์กร NGO” จ่ายยาป้องกันติดเชื้อ HIV หวั่นเกิดผลกระทบทำผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศพุ่ง พร้อมเปิดข้อมูลหน่วยบริการ SWING มีผู้มารับบริการเกือบ 9 พันราย ในจำนวนี้พบผู้ที่ยังคงมีความเสี่ยง HIV และต้องรับยาป้องกันถึงกว่า 5 พันราย ขณะที่ภาพรวมการจ่ายยาเพร็พ ปี 2565 ร้องละ 82 เป็นการรับยาที่คลินิกภาคประชาสังคม


น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยว่า ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ถึงองค์กรภาคประชาสังคมภายใต้นโยบายยุติเอดส์ในประเทศไทย ในที่นี้รวมถึงมูลนิธิ SWING ถึงแนวทางการให้บริการด้านยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค หรือ “ยาเพร็พ” (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน หรือ “ยาเป็ป” (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจและการอ่านผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการสั่งจ่ายยา ส่งผลให้คลินิกภาคประชาสังคมที่เคยให้บริการด้านการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ร่วมกับหน่วยบริการเอกชนที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้ภาระหนักตกไปอยู่กับประชาชน ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วย

ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจของ SWING ในปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้มารับบริการตรวจเอชไอวีจากคลินิกภาคประชาชนของ SWING ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 8,727 คน ในจำนวนนี้ผู้ที่มีผลเป็นลบและยังคงมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องกินยาเพร็พร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยจำนวน 5,625 คน ซึ่งจากหนังสือฉบับดังกล่าว จากนี้จะทำให้คนจำนวนนี้ไม่สามารถมารับบริการโดยสะดวกได้เหมือนที่ผ่านมา และมากไปกว่านั้น แม้ว่าทาง SWING และคลินิกภาคประชาสังคมอื่นๆ จะได้ประสานส่งต่อเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับบริการจากหน่วยบริการของภาครัฐที่ให้บริการด้านยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีตามที่ระบุไว้ในหนังสือของ สบส. แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเงื่อนไขเวลาการเปิดและปิดของหน่วยบริการของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการได้ และบางสถานพยาบาลก็ไม่มียาพร้อมที่จะจ่าย ประกอบกับการที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนในการรับบริการ

น.ส.สุรางค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีกำลังเกิดความตื่นตระหนกอย่างมาก เพราะจากการที่คลินิกภาคประชาสังคมประกาศว่าจะให้บริการด้านยาเป็นวันสุดท้าย พบว่ามีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก และอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เนื่องจากกังวลว่าจะเข้าไปไม่ถึงยา การให้บริการของคลินิกภาคประชาสังคม เราจัดบริการให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา โดยเราเปิดวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่ช่วงสายถึงค่ำ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการได้ แต่เมื่อคลินิกเราไม่สามารถให้บริการได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

หลังจากนี้ทาง SWING จะพยายามติดต่อพูดคุยกับกรมควบคุมโรค (คร.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้รับทราบปัญหา และร่วมหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรจากนี้ เพื่อให้หน่วยบริการภาคประชาสังคมคงให้บริการต่อได้

“ที่ผ่านมาพวกเราภาคประชาสังคมได้ลุกขึ้นมา เพื่อจะช่วยกันเติมเต็มการบริการที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง และเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงบริการป้องกันให้กับประชาชน หลังจากนี้เราต่างกังวลมากว่า อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งยอมรับว่ายาเพร็พเป็นทางเลือกหลักและดีมากในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจากข้อมูลการรับบริการยาเพร็พในภาพรวมของปี 2565 มีผู้มารับบริการในคลินิกภาคประชาสังคมกว่า 82% คำถามต่อจากนี้คือ จากนี้คนเหล่านี้จะไปรับบริการและยาป้องกันเอชไอวีได้จกที่ไหน” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าว

น.ส.สุรางค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเดินหน้ายุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 ที่มุ่งลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในผู้ใหญ่เหลือไม่เกินปีละ 1,000 ราย  เพราะที่ผ่านมาอัตราการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ อย่างไรก็ตามหากกระทรวงสาธารณสุขไม่รีบแก้ปัญหาในที่สุด ส่งผลต่อไปยังระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเอชไอวีในระดับภาพรวมจากผู้ที่เชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย