ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ใช้สิทธิบัตรทองตอบรับ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” กว่า 1 เดือน มีผู้รับบริการแล้วกว่า 2.2 หมื่นราย ส่วนใหญ่มารับบริการด้วยอาการไข้ ไอและเจ็บคอ ร้อยละ 46 ขณะที่วินิจฉัยอาการป่วยเป็นไข้หวัดมากที่สุด 5 พันราย เดินหน้าให้บริการต่อเนื่อง พร้อมติดตามประเมินผลในระยะยาวต่อไป 


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมเพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพื่อเป็นการดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จัดระบบบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ในร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. (ร้านยาคุณภาพของฉัน) ขณะนี้มีจำนวนกว่า 650 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากผลดำเนินการปรากฏว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากในการเข้ารับบริการ โดยรายงานข้อมูลล่าสุดผ่านระบบแดชบอร์ด (Dashboard) มีผู้ป่วยมารับบริการ common illnesses ที่ร้านยาแล้วจำนวน 22,842 ราย 

สำหรับ 5 อันดับแรกของอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เข้ารับบริการ ได้แก่ อาการไข้ ไอ และเจ็บคอมีการเข้ารับบริการมากที่สุดจำนวน 12,177 ราย หรือร้อยละ 46 ของผู้มารับบริการ รองลงมามีอาการปวดข้อและเจ็บกล้ามเนื้อจำนวน 6,557 ราย ผื่นผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 3,513 ราย ปวดท้อง จำนวน 2,515 ราย ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา จำนวน 1,515 ราย       

เมื่อดูข้อมูลที่แยกตามการวินิจฉัยโรค พบว่าเป็นภาวะเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (โรคหวัดธรรมดา) มากที่สุดจำนวน 5,003 ราย ปวดกล้ามเนื้อ จำนวน 3,482 ราย เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้ จำนวน 2,195 ราย ไข้ (ไม่ระบุชนิด) จำนวน 1,529 ราย และเยื่อบุตาอักเสบ จำนวน 1,191 ราย  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนร้านยาที่ร่วมให้บริการ common illnesses มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เภสัชกรพรประเสริฐ จังหวัดกระบี่ จำนวน 830 ราย ยาดีเภสัช จังหวัดหนองคาย จำนวน 555 ราย เทอดเกียรติเภสัช จังหวัดพะเยา จำนวน 437 ราย เภสัชกรสุพรรณ2 จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 431 ราย ร้านยาบ้านอิ๋ว จังหวัดนนทบุรี จำนวน 388 ราย

“จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับบริการจากประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการ โดยสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ยังคงเดินหน้าระบบบริการต่อเนื่อง พร้อมติดตามประเมินผลระยะยาวต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า บริการ common illnesses โดยร้านยานี้เป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการนอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด และต้องเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น วิธีซักอาการ วิธีการดูแล และวิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรรับรองในการให้บริการดูแลโรคทั่วไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ บริการ common illnesses โดยร้านยาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าติดตามอาการและผลการดูแล  
 
แนะนำการบริการ common illnesses ที่ร้านยา มี 2 วิธี คือ
1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่แนะนำร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อเข้ารับบริการ
2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 

หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา (นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดพร้อมกับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง) เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป

3

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ