ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการสิทธิฯ เสนอกระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน งดเว้นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีบุคลากรก่อนรับเข้าทำงาน เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ


นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยในการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2565 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ระบุว่า การที่สถานพยาบาลหลายแห่งยังให้ผู้สมัครงานต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) แสดงให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหลายกรณีแล้ว

ทั้งนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วยอีกทางหนึ่ง โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงแรงงาน มีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ โดยเคร่งครัด รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มการตรวจร่างกายในผู้สมัครงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและแจ้งเวียนเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ต่อไป

สำหรับกรณีดังกล่าว มีที่มาจากเมื่อเดือน พ.ค. 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ แจ้งว่ามีผู้เสียหายรายหนึ่งได้สมัครทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาล ในตำแหน่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยในประกาศรับสมัครงานไม่ได้ระบุห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าปฏิบัติงาน แต่เมื่อผู้เสียหายทดลองปฏิบัติงานประมาณครึ่งวัน และเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ จึงให้เขียนใบสมัครและกรอกเอกสารยินยอมให้ตรวจสุขภาพ

ขณะเดียวกัน ผู้เสียหายทราบจากเจ้าหน้าที่ระหว่างการเจาะเลือดว่าจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งในการตรวจสุขภาพ แพทย์ได้ระบุในหนังสือรายงานผลการตรวจว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธการรับผู้เสียหายเข้าปฏิบัติงาน โดยให้เหตุผลว่าบริษัทผู้ถูกร้องไม่มีนโยบายรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องใกล้ชิดผู้ป่วย

1

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลบริษัทผู้ถูกร้องอีกครั้ง และแพทย์ยังคงระบุความเห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากร ผู้เสียหายจึงนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอีกครั้งเพื่อขอให้ทบทวนการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด และเห็นว่าการกระทำของบริษัทผู้ถูกร้องเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงมีหนังสือขอให้มูลนิธิฯ ร้องเรียนแทนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ 

ภายหลังจากที่ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระเบียบ ข้อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง สภาพทางกายหรือสุขภาพหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รับรองว่าทุกคนมีสิทธิในการทำงาน รวมทั้งสิทธิในการหาเลี้ยงชีพโดยงานที่ตนเลือกหรือรับอย่างเสรี

นายวสันต์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ให้ผู้เสียหายตรวจหาเชื้อเอชไอวีจริง ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ลงวันที่ 21 ส.ค. 2552 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พ.ย. 2563 และถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้

นายวสันต์ ยังกล่าวอีกว่า ในภายหลังคณะกรรมการบริหารของบริษัทได้รับทราบปัญหาและเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว จึงได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานทุกกรณี ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้สมัครงาน และยกเลิกแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยแล้ว กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติเรื่อง

"แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังคงมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงาน หรือนำเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีมาประกอบการพิจารณาตำแหน่งงาน ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค และสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี จะเห็นว่าบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์ ไม่สามารถส่งต่อเชื้อต่อบุคคลอื่นหากขาดปัจจัยเรื่องปริมาณและคุณภาพของเชื้อ" นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า เช่นเดียวกับช่องทางการติดต่อ ซึ่งเชื้อจะต้องส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อไปยังอีกคนหนึ่งโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือดเท่านั้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากแม่สู่ลูก อีกทั้งการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลจะต้องปฏิบัติตามหลักการ Universal Precaution หรือการระมัดระวังป้องกันตนเองของบุคลากรทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วยอยู่แล้ว เช่น การใช้ถุงมือ ผ้าปิดปากและจมูก เสื้อคลุม เครื่องป้องกันตา และการทำความสะอาดมือ รวมทั้งการป้องกัน การบาดเจ็บจากการถูกเข็มตำทั้งในผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์