ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยังไม่ทันที่ความวิตกต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะผ่านพ้นไปได้ดีนัก โรคระบาดอื่นๆ ก็ได้ทยอยออกมาสร้างความหวาดหวั่นให้ประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง โดยคราวล่าสุดเป็นของ "อีโบลา" เชื้อไวรัสที่เคยมีการระบาดในระดับ "Epidemic" ไปทั่วทวีปแอฟริกาตะวันตก ในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งได้เริ่มกลับมามีการระบาดอีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 บริเวณหลายเมืองของประเทศยูกันดา

สำหรับตัวเลขสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 24 ต.ค. 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดา รวมแล้วจำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วยตาย 49% โดยในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ที่มีความรุนแรงเป็นอันดับสอง ด้วยอัตราป่วยตายเฉลี่ย 53% รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ ที่มีอัตราป่วยตายเฉลี่ย 68%

แม้จำนวนผู้ป่วยในขณะนี้จะยังไม่มาก แต่ต้องยอมรับว่าด้วยอัตราการเสียชีวิตที่อยู่ในระดับชนิด "ครึ่งต่อครึ่ง" นี้กำลังสร้างความหวั่นใจอยู่ไม่น้อย และเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยรัฐบาลประเทศยูกันดา ซึ่งได้มีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาด ทั้งการประกาศนโยบายกักตัว 21 วัน ตามระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ รวมไปถึงมาตรการงดเข้า-ออกในเมืองมูเบนเด (Mubende) และเมืองคัสแซนดา (Kassanda) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดของไวรัส

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็น "ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยเอง นพ.ธเรศ ยืนยันว่า กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565  เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดาทุกราย ที่จะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพและลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย

ทั้งนี้ "อีโบลา" จัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัส และสามารถแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในร่างกาย โดยอาการเจ็บป่วยหลักคือ มีไข้, อาเจียน, มีเลือดออก และท้องร่วง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับอนุญาตในการป้องกันหรือรักษาโรคอีโบลา ส่วนในประเทศไทยเคยมีการขึ้นทะเบียน "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยังยั้งจำนวน RNA ทำให้กำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้

ในขณะที่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการเกิดขึ้นของ "ความร่วมมือวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก" (Global Health Security Agenda: GHSA) ที่ได้มีการก่อตั้งขึ้นในปี 2557 หลังการระบาดของอีโบลาในทวีปแอฟริกา โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกร่วมกับอีก 70 ประเทศทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายในการทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้นจากภัยคุกคามด้านสุขภาพจากโรคติดเชื้อ