ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. มอบอำนาจให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ลงนามถ่ายโอน รพ.สต.ได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม คาดสัปดาห์นี้น่าจะลงนามกับ อบจ.ได้ 1-2 แห่ง  


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยได้ย้ำเรื่องการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ว่าให้ยึดตามหลักการ คือ สธ.เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ซึ่งในระยะยาวประชาชนจะได้รับบริการดียิ่งขึ้น ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายโอน บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งข้าราชการ พนักงานกระทรวงและลูกจ้าง ต้องไม่ได้รับผลกระทบ ได้รับจ้างงานต่อเนื่อง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ติดตามแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

"ได้สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 49 จังหวัดที่จะมีการถ่ายโอน ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามแก้ไขปัญหา รวมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะถ่ายโอน แต่จะมีปัญหาในระดับปฏิบัติที่พบว่า อบจ.บางแห่งยังไม่พร้อม ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแก้ปัญหาร่วมกับ อบจ.โดยตรง เมื่อ อบจ.ใดมีความพร้อมตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ กำหนด ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดซึ่งได้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงแล้ว ลงนามถ่ายโอนกับ นายก อบจ.ได้ทันที เบื้องต้นในสัปดาห์นี้น่าจะมี อบจ. 1-2 แห่ง ที่มีความพร้อมถ่ายโอน" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังกำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาจกังวลเรื่องของการรับบริการ ว่ายังสามารถใช้สิทธิการรักษาได้ตามเดิม เนื่องจากเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ประชาชนได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ยังใช้บริการที่ รพ.สต.ได้เช่นกัน ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่เคยรับยาใน สอน.และ รพ.สต. ยังสามารถรับยาได้ต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลแม่ข่ายจะมีข้อตกลงการจัดบริการร่วมกับ รพ.สต. เช่น การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือการสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ในภายหลัง และหากผู้ป่วยของ สอน.หรือ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป อบจ. จำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยังสามารถส่งตัวได้ โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาจะเป็นไปตามข้อตกลงที่ อบจ. ทำร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย