ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนา สสส. ถ่ายทอดแนวทางการประคับประคองตัวให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ เตือนคนไทย! ระวังเป็นกบถูกต้ม


เมื่อวัน 2 ตุลาคม 2565 ที่หอศิลป์กรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และเครือข่ายเคเบิลทีวีสุขภาวะ จัดเวทีเสวนา “อยู่อย่างไรให้เป็นกบรอด” เพื่อชี้แนะแนวทางการประคับประคองตัวให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ

รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหาร สสส. กล่าวว่า ทฤษฎีกบรอด เป็นทฤษฎีเศรษฐศาตร์ที่เป็นที่รู้จักกันมากว่า 5 ปี แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวของที่แพงขึ้น สภาพความเป็นอยู่ที่ขัดสน เหล่านี้ทำให้ประชาชนที่เปรียบเสมือนกบต้องเผชิญกับความร้อนระอุในสังคมที่ตนเองอยู่ โดยไม่รู้ตัวอย่างที่ประเทศศรีลังกา หรืออเมริกา สำหรับประเทศไทยเราก็ไม่ต่างกัน ข้าวของแพงขึ้น การลงทุนที่ย้ายฐานไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบให้คนงานถูกปลดออก คนอายุ 40 ปีกว่าตกงานก็จะหางานทำได้ยากขึ้น เรื่องแบบนี้รัฐบาลอาจไม่ได้บอกเราตรง ๆ สสส. และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับภาคประชาชน จึงต้องการสื่อสาร และบอกเตือนประชาชนให้ต้องตื่นรู้ ตื่นตัว ต้องดิ้นร้นเพื่อความอยู่รอด ไม่ให้เป็น “กบที่ถูกต้ม” ด้วยการใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย หรือเอารายได้ไปเสี่ยงกับการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่บางที่ให้เงินเราเล่นก็ด้วยซ้ำ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องทบทวนว่ารายได้ รายจ่าย ต้องมีเก็บไว้ เพื่อการใช้ชีวิตในอนาคตดีกว่าไหม เราทุกคนจะได้เป็น “กบรอด” ในสภาพสังคมทุกวันนี้

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเหมือนหม้อต้มน้ำที่กำลังร้อนขึ้น จากการที่สินค้าจำเป็นหลายร้อยรายการทยอยปรับขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็พุ่งขึ้นสูงมีการหลอกลวงทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.-ก.ย. 65) ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 84,605 เรื่อง เฉลี่ยกว่า 400 เรื่องต่อวัน ในอีกด้านหนึ่งประชาชนจำนวนไม่น้อยหันไปเลือกการพนันเป็นทางออก เห็นได้จากการขยายตัวของหวยทุกประเภท ทั้งหวยรัฐบาล หวยใต้ดินและหวยเพื่อนบ้าน การพนันฟุตบอล และบ่อนพนันออนไลน์ หากไม่มีการปรับตัวที่ดีเกรงว่าคนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะกลายเป็นกบที่ถูกต้มในหม้อต้มน้ำ

1

จึงนำมาสู่การสำรวจว่า “คนไทยกำลังเป็นกบต้มหรือกบรอด” โดยเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน 9 จังหวัด ลำปาง พะเยา น่าน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี เลย สระบุรี และกรุงเทพมหานคร จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 579 ราย ระหว่างวันที่ 11-20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเพศหญิง 67% เพศชาย 33% โดย 54% พำนักอยู่ในเขตเมืองและชานเมือง 46% อยู่ในเขตชนบท  โดยมุ่งสอบถามใน 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ประชาชนกำลังเดือดร้อนหรือไม่? สอง จัดการปัญหาอย่างไร? และ สาม มีรายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ ? 

ทั้งนี้พบว่า ผู้ตอบจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีเพียง 14% ที่ตอบว่ามีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ขณะที่ 57% อยู่ในสภาพก้ำกึ่งบางช่วงก็พอจ่ายบางช่วงก็ไม่พอ ขณะที่ 29% อยู่ในสภาพมีเงินไม่พอจ่ายแทบตลอดเวลา ทำให้กว่า 80% ต้องนำเงินเก็บออมสำหรับอนาคตมาใช้จุนเจือความเดือดร้อนในปัจจุบัน 56% ต้องใช้วิธีหมุนเงินเอารายรับก้อนนี้ไปโปะหนี้ก้อนโน้น ใช้วิธีกู้หนี้ใหม่เพื่อไปปลดหนี้ก้อนเก่า 25% อาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ อีกประเด็นคือผู้ตอบ 30% นำเงินไปลงทุนกับกิจการที่มีความเสี่ยงสูงเพราะเชื่อคำโฆษณาว่าผลตอบแทนดี  ขณะที่ 60% ฝากความหวังกับการเล่นพนัน 

เมื่อถามถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต พบว่ากว่า 80% ยังนิยมช็อปออนไลน์ ในจำนวนนี้กว่า 20% ตอบว่าช็อปเป็นประจำ ขณะที่กว่า 60% ยังพึ่งพิงอาหารจากร้านสะดวกซื้อหรือบริการอาหารดีลิเวอรี่ ซึ่งล้วนทำให้ชีวิตมีรายจ่ายที่มากขึ้น ในจำนวนนี้ 12% ใช้บริการนี้เป็นประจำ  ที่น่าสังเกตคือผู้ตอบ 56.8%  ตอบว่ายังมีการจับจ่ายใช้สอยตามกระแส “ของมันต้องมี” เห็นเขามีเราต้องมีบ้าง และ 66% ยังมีการเที่ยวสถานบันเทิงสังสรรกับเพื่อน โดยเกือบ 10% ยังใช้ชีวิตแบบนี้เป็นประจำ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ปิดช่องทางเงินรั่วไหล เลิกสนใจเสี่ยงโชค และงดการบริโภคที่ไม่จำเป็น คงยากที่จะรอด”