ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจิรรุจน์ เผย ไวรัส RSV คร่าชีวิตเด็กแล้ว 1 ราย ระบุช่วงโควิด-19 ระบาดยังไม่มีเด็กเสียชีวิต-เจ็บป่วยทรมานจากระบบหายล้มเหลวเหมือนตอนนี้ การรักษายังเป็นแบบประคับประคอง ไม่มียารักษา-วัคซีนป้องกัน พร้อมแนะวิธีป้องกันเบื้องต้นในการดูแลเด็กสงสัยติดเชื้อ

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Jiraruj Praise” ถึงกรณีเด็กเสียชีวิตจากไวรัส RSV 1 ราย โดยระบุว่า จากรณีดังกล่าวถือเป็นการเปิดเกมส์ฤดูการระบาดในเมืองนครราชสีมา ซึ่งในตอนที่โควิด-19 ระบาดยังไม่พบเด็กที่เสียชีวิต หรือได้รับความเจ็บป่วยทรมานจากระบบหายใจล้มเหลวเหมือนในขณะนี้ รวมไปถึงเมื่อคืนวานก็มีเด็กที่ต้องใสท่อช่วยหายใจและส่งเข้า ICU ไปแล้ว 2  ราย

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการรุนแรง ได้แก่ 1. อายุน้อยกว่า 1 ปี 2. โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง 3. โรคหัวใจแต่กำเนิด 4. โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ 5. โรคระบบประสาทผิดปกติ และ 6. โรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม รวมไปถึงผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันเชื้อไวรัส RSV ยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นการรักษาจึงเป็นการประคับประคอง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้ด้วยการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ปล่อยให้เด็กที่ป่วย มีไข้เข้าเนอสเซอรี่ ส่วนกรณีเด็กโตที่ป่วยควรสวมหน้าสกากอนามัย ล้างมือ และไม่ไปสัมผัสเด็กเล็ก หรือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง

“เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระบาด เขาเริ่มขยับแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนแบบพวกเราทุกคนที่ต้องตระหนักเรื่องนี้ หากโพสต์นี้สร้างความกลัวให้กับใครก็ตาม ผมต้องขออภัยด้วยนะครับ แต่ผมคิดว่านี่คือความจริงที่ต้องตีแผ่ และควรได้รับรู้ เพื่อให้ทุกคนตระหนัก จะช่วยกันสำหรับสถานการณ์นี้ขอให้ทุกๆท่านโชคดีรอดพ้น ช่วงเวลาของการระบาดนี้” นพ.จิรรุจน์ ระบุ

นพ.จิรรุจน์ ระบุต่อไปว่า สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลบุตรหลานหากสงสัยติดเชื้อ RSV และมีน้ำมูกมากในเด็กที่อายุน้อย เช่น ต่ำกว่า 2 ปี ได้แก่ 1. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำมูกทุกชนิด เพราะยาจะทำให้น้ำมูกและเสมหะเหนียว หากมีการติดเชื้อในหลอดลมเสมหะจะมีปริมาณมากและเหนียว ทำให้ไอออกยากมากขึ้น และอาจเป็นสาเหตุให้ต้องไปนอนโรงพยาบาลเพื่อพ่นยาและดูดเสมหะ

2. เด็กเล็กที่ป่วยและมีประวัติสัมผัส ผู้ป่วย RSV ชัดเจน อาการหลักอยู่ที่จมูกและคอหอย เช่นน้ำมูกมาก อาการไอส่วนใหญ่จะเป็นจากน้ำมูกไหลลงคอ หากยังไม่หายใจหอบควรหลีกเลี่ยงการพ่นยาละอองฝอยโดยไม่จำเป็น เพราะละอองฝอยขนาดเล็กอาจเป็นเหตุนำพาเชื้อจากโพรงจมูกส่วนบน ลงไปยังจมูกส่วนล่างผ่านการพ่นยา

อย่างไรก็ดี ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการพ่น ร้องหรือสำลักระวังพ่นยาก็ยิ่งมีโอกาส พาเชื้อลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เว้นแต่มีอาการของหลอดลมหดเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด จากการตรวจร่างกายก็อาจจำเป็นจะต้องใช้ยาพ่นละอองฝอย ซึ่งขอให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ สิ่งสำคัญคือควรเน้นเรื่องการเคลียร์ น้ำมูกในโพรงจมูก

3. อย่าขาดน้ำในช่วงที่มีการติดเชื้อ พยายามดื่มหรือจิบน้ำบ่อยๆ เพราะภาวะขาดน้ำจะยิ่งทำให้เสมหะแห้งและเหนียว รวมถึงทำให้การไอเอาเสมหะออกมาทำได้ยาก ซึ่งอาจะเป็นสาเหตุทำให้เด็กต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาล

4. จัดการกับภาวะไข้สูงอย่างรวดเร็ว เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อ RSV จะเริ่มต้นจากไข้สูง ซึ่งไข้ที่สูงจะเป็นสาเหตุให้มีกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ หากการหายใจได้ไม่ดีที่มาจากทางเดินหายใจอักเสบบวมเสมหะมากจากการติดเชื้อ การระบายก๊าซดังกล่าวจะทำได้แย่ลง และอาจทำให้อาการเด็กทรุดหนัก ฉะนั้นการลดไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรรีบทำโดยเร็ว ด้วยการเช็ดตัว การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอลที่เหมาะสมจะสามารถบรรเทาอาการไข้ ช่วยลดความรุนแรงของตัวโรคลงได้

ทั้งนี้ หากปฏิบัติแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจหอบมากขึ้น หายใจอกบุ๋ม กินได้น้อย และไม่ยอมกินโดยเฉพาะน้ำและนมควรรีบพบแพทย์โดยด่วน