ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่รายงาน “นโยบายการสร้างภูมิคุ้มกัน การวางแผน และให้บริการสุขภาพแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ” หรือ Ensuring the integration of refugees and migrants into immunization policies, planning and service delivery globally เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 โดยชี้ให้เห็นว่า นโยบายการให้วัคซีนที่มีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกันระหว่างประเทศทั่วโลกนั้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะสถานะทางกฎหมายและอายุของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ตลอดจนบริบททางการเมืองและสังคมในประเทศปลายทาง

ประเทศส่วนมากไม่มีนโยบายจัดหาวัคซีนให้แก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ หรือแม้จะมีนโยบาย ก็มักมีปัญหาในการปฏิบัติงาน

รายงานชิ้นดังกล่าวยังยกตัวอย่างกรณีของ “ปากีสถาน” ซึ่งไม่มีนโยบายสุขภาพเฉพาะสำหรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน แม้ว่าจะรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเกิดสงครามผู้ก่อการร้ายมายาวนานนับสิบปี

1

ในส่วนของกลุ่มประเทศแอฟริกา เช่น อียิปต์ อิรัค จอร์แดน เลบานอน และตูนีเซีย มีนโยบายให้วัคซีนพื้นฐานแก่ประชากรทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและสถานะทางกฎหมาย แต่พบว่าในทางปฏิบัติ ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้

นั่นเพราะปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่นในกรณีศึกษาของโรงพยาบาลรัฐในอิยีปต์ ซึ่งปฏิเสธการวัคซีนแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยโดยอ้างสถานะทางกฎหมายของพวกเขา ลึกๆ แล้วเกิดจากความหวาดกลัวว่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะเข้ามาแย่งทรัพยากรในประเทศ

ในกรณีของโมรอคโค ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ เพราะมีฐานะยากจน และไม่สามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่นได้ จึงไม่สามารถรับบริการวัคซีนได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทย รายงานขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า ไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพผู้อพยพ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสามารถซื้อประกันสุขภาพของรัฐในราคาที่เอื้อมถึง เข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีนครบถ้วน

“การเข้าถึงบริการสุขภาพรวมทั้งวัคซีน คือสิทธิมนุษยชนที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยพึงมี ทั้งยังสำคัญต่อการป้องกันโรคระบาด และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้คนในแต่ละประเทศ” ซานทิโน เซเวโรนี (Santino Severoni) ผู้อำนวยการโครงการสุขภาพและผู้อพยพแห่งองค์การอนามัยโลก กล่าว

“ทุกประเทศจึงควรสร้างการเข้าถึงวัคซีนสำหรับทุกคน โดยไม่กีดกันและเท่าเทียมกันระหว่างประชากรท้องถิ่นและผู้อพยพ นอกจากนี้ ยังควรขจัดกำแพงต่างๆที่กีดกั้นการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น กำแพงทางภาษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการบริหารราชการ”

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายบรรลุการเข้าถึงวัคซีนถ้วนหน้าภายในปี 2573 หรือ The Immunization Agenda 2030 ด้วยความคาดหวังว่าประชากรบนโลกทุคนจะสามารถเข้าถึงวัคซีน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติอะไร มาจากไหน หรืออายุเท่าใด

ภายใต้เป้าหมายนี้ นานาประเทศควรทำนโยบายการเข้าถึงวัคซีนถ้วนหน้าให้กับผู้อพยพและลี้ภัย ซึ่งจะช่วยให้โลกบรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals

“เป้าหมายบรรลุการเข้าถึงวัคซีนถ้วนหน้าภายในปี 2573 ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในระดับท้องถิ่น ชาติ ภูมิภาค และระดับโลก ให้สามารถทำยุทธศาสตร์การให้บริการวัคซีนที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ” เคท โอเบรน (Kate O’Brien) ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิคุ้มกัน วัคซัน และ ชีววัตถุ แห่งองค์การอนามัยโลก ให้ความเห็น

2

“การได้รับวัคซีนให้โอกาสทุกคนในการใช้ชีวิตเต็มศักยภาพ โอกาสนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถกระจายวัคซีนให้ประชากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

รายงานขององค์การอนามัยโลกเสนอลักษณะการทำนโยบายหลักๆ 3 ข้อ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ได้แก่

หนึ่ง การสร้างหลักประกันการเข้าถึงวัคซีนถ้วนหน้า โดยไม่กีดกันผู้มีสิทธิด้วยสถานะทางกฎหมาย นโยบายนี้ควรคำนึงถึงยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสาร การมีส่วนร่วมโดยชุมชน และควรควบรวมนโยบายวัคซีนในกลุ่มผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เข้ากับระบบสุขภาพปฐมภูมิ

นอกจากนี้ ควรมีแนวทางจัดการข้อมูลบิดเบือน ซึ่งส่งผลให้ประชากรท้องถิ่นเกลียดชังผู้อพยพและผู้ลี้ภัย หรือส่งผลให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยไม่กล้ามาฉีดวัคซีน เพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลกระทบจากการฉีด

สอง ยกระดับระบบสุขภาพในภาพรวมจนสามารถให้บริการวัคซีนกับกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย รวมทั้งประชากรท้องถิ่นที่มีการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ อาจขาดความต่อเนื่องในการเข้าถึงระบบสุขภาพ

การให้บริการนี้ควรคำนึงถึงการรับวัคซีนตลอดช่วงชีวิต เพราะโรคแต่ละประเภทเกิดขึ้นในมนุษย์ที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน

การยกระดับบริการวัคซีนในภาพรวมจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ในการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้าย รวมทั้งต้องเพิ่มศักยภาพด้านคลังวัคซีน เพื่อให้การหริหารและจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของประชากรทุกกลุ่ม

สาม ยกระดับฐานข้อมูลการรับวัคซีนของประชากรทั้งประเทศ รวมถึงผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ซึ่งนอกจากจะผลักดันให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลมาออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำกองทุนอุดหนุนสุขภาพผู้อพยพและผู้ลี้ภัย การศึกษาวิจัยโรคและผลลัพธ์จากการให้วัคซีน เป็นต้น

3

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่: https://www.who.int/news/item/12-07-2022-new-who-global-evidence-review-on-health-and-migration-underscores-how-the-implementation-of-inclusive-immunization-plans-is-critical-for-member-states-to-achieve-universal-health-coverage

อ่านรายงาน Ensuring the integration of refugees and migrants into immunization policies, planning and service delivery globally ฉบับเต็ม ได้ที่: https://www.who.int/publications/i/item/ensuring-the-integration-of-refugees-and-migrants-in-immunization-policies--planning-and-service-delivery-globally