ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดินหน้าพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หนุนเสริมความรู้ อสม. กว่า 4,427 คนช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตราย พร้อมดันผลิตภัณฑ์ OTOP/SMEs สู่ Smart product


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมฯ ระยะ 20 ปี ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและเสริมสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความยั่งยืน

ทั้งนี้ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชน หรือ “Community Medical Sciences for health : Com Med Sci for health” จะมีกิจกรรมหลัก 2 ด้าน (2D) คือ การแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) และการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต (Development) 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ในเรื่องการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) โดยมีการพัฒนาศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพ จำนวน 323 แห่ง และพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน

สำหรับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน จะเฝ้าระวังแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน การใช้ชุดทดสอบด้านยา อาหาร และเครื่องสำอาง ชุดทดสอบกัญชา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test kit (ATK) การใช้งานฐานข้อมูลกรมวิทย์ With you การรายงานผลในแอพพลิเคชั่น H4U และ Smart อสม. รวมไปถึงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ

ในส่วนของ อสม.ที่ผ่านการประเมินเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน มีจำนวน 4,427 คน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปใช้ในการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ สื่อสารแจ้งเตือนข่าวร้ายกระจายข่าวดี เกิดการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชน

ขณะที่การพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน (Development) ได้พัฒนากระบวนการผลิตหรือคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร

"ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 - 31 พ.ค. 2565 กรมฯ สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพรสู่ Smart product จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัย จำนวน 60 ผลิตภัณฑ์" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ทางกรมฯ จะยังคงพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนการทำงานในการป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ไทย

อนึ่ง ในส่วนของ อสม. หรือผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ