ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผย ยังต้องติดตามอาการผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 คน หลังประเทศออสเตรเลียแจ้ง มีผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร 1 รายแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่พบอาการป่วยหลังติดตามครบ 7 วัน และไม่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพราะช่วงใกล้ชิดผู้ป่วยยังไม่มีอาการ 


นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศเริ่มเปิดน่านฟ้าและสนามบิน ทำให้มีการเดินทางทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ส่วนนี้ก็จะมีการเฝ้าระวังที่สนามบิน ซึ่งก็จะพบว่ามีผู้ที่เดินเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อรอเปลี่ยนเครื่องเพียงชั่วครู่ก่อนที่จะบินไปยังประเทศต่อไป ซึ่งประเทศไทยพบ 1 ราย ที่เดินทางมาจากประเทศในยุโรปเพื่อรอเปลี่ยนเครื่องไปยังประเทศออสเตรเลีย ได้รับการวินิจฉัยจากประเทศออสเตรเลียว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร

สำหรับผู้ป่วยรายนี้พบว่ารอเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมง ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีอาการภายหลังก็พบว่ามีอาการตอนที่ถึงประเทศออสเตรเลียแล้ว ฉะนั้นผู้ป่วยรายนี้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดนั้นยังไม่ได้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากตอนใกล้ชิดผู้ป่วยไม่มีอาการ ฉะนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ของผู้ป่วยต้องสงสัย 

“แต่ทั้งนี้ทั้งก็ต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย พบว่า 1 รายมีผู้สัมผัสใกช้ชิดทั้งเป็นผู้โดยสารบนเครื่องบิน และลูกเรือรวม 12 คน ตอนนี้ก็ติดตามครบ 7 วันยังไม่พบว่ามีอาการป่วยแม้แต่รายเดียว แต่ก็คงต้องติดตามต่อไป” 

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โรคฝีดาษวานร ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย โดยในขณะนี้ถูกจัดเป็นประเภทโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คล้ายโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย ฯลฯ ฉะนั้นจะไม่มีการเริ่มต้นกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วย 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันภายในประเทศไทย และมีการตั้งด่านติดตามผู้สัมผัส โดยเน้นการเฝ้าระวังโรค 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ส่วนที่เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะส่วนที่เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีการพบการระบาดภายในประเทศ ซึ่งก็จะมีการแจก QR CODE ประเมินอาการผ่าน Thailand Pass หากมีอาการคล้ายกับโรคฝีดาษวานรให้รายงานผ่ายระบบด้วย
 
2. การเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ถ้ามีผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามา และมีอาการต้องสงสัย ก็จะมีระบบการรายงานจากโรงพยาบาลทุกแห่งเข้ามาที่ส่วนกลาง กรมควบคุมโรค ซึ่งก็จะมีส่งข้อมูลให้ดับทีมสวบสวนโรคว่าลักษณะอาการนั้นใช้ฝีดาษวานรหรือไม่ 3. คลินิกเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นคลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งลักษณะของตุ่มจะคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรค ซึ่งก็ต้องวินิจฉัยแยกโรค สำหรับอีกหนึ่งส่วนสุดท้ายคือผู้ดูแลสัตว์ป่าที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา ก็จะมีการเฝ้าระวังร่วมกับกรมอุทยานในส่วนนี้ด้วย 

“มีการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ เนื่องจากโรคฝีดาษวานรถือว่าเป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย ต้องมีกระบวนการในการเก็บตัวอย่าง การส่งตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อให้ชัดเจน รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการสอบสวนโรคทุกจังหวัด ตอนนี้ก็เตรียมความพร้อมไปมากพอสมควรแล้ว หากมีผู้ป่วยเข้ามาก็จะต้องสอบสวนให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงแรก รวมไปถึงวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ก็มีติดตามคงามก้าวหน้าในเรื่องของการเตรียมเวชภัณฑ์เหล่านี้ด้วย” นพ.จักรรัฐ ระบุ