ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงมหาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบและการป้องกันให้กับประชาชนถึงในระดับท้องถิ่น พร้อมเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง
ยา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเป้ากำจัดโรคได้สำเร็จภายในปี 2573


เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน เปิดเผยว่า สธ. ได้ให้ความสำคัญในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทย โดยตั้งเป้าดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่มีคุณภาพและเท่าเทียม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายการกระจายอำนาจทางด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ ตามการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ สธ. และ มท. จะประสานความร่วมมือทั้งด้านนโยบาย และการปฏิบัติงานในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการระดมทรัพยากรบุคลากรและงบประมาณท้องถิ่นที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ วิธีการป้องกัน การดูแลรักษาและควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบของประชาชน รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ยา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง 2.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 8 แสนคน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี เรื้อรัง ส่วนใหญ่จะเกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

กรมควบคุมโรค สธ. จะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างเหมาะสม ลดโอกาสเกิดโรค
ตับแข็งและมะเร็งตับ เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ด้าน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ เช่น การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อ การส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในด้านสาธารณสุข เพื่อร่วมกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบในท้องถิ่น และนำไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในที่สุด