ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พรรคเพื่อไทย เสนอแนวทาง 3 ข้อ ดันผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการพื้นฐาน จัดซื้อผ้าอนามัยที่มีคุณภาพ-จัดสรรงบ 1.9 หมื่นล้าน หนุนหญิงไทยเข้าถึงผ้านามัยฟรีทุกคน


นายชานันท์ ยอดหงส์ ผู้รับผิดชอบโครงการนโยบายด้านอัตลักษณ์ และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยผ่านงานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ ‘นิทรรศกี สวัสดิการผ้าอนามัยฟรีเพื่อทุกคน’ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นพื้นที่ต่อการดำรงชีวิต เพราะการเป็นประจำเดือนของมนุษย์เป็นเรื่องของเพศสรีระที่เปลี่ยนแปลงเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ถ้ามองในมุมอนามัยเจริญพันธุ์ ผ้าอนามัยดูมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งรัฐประชาชาติที่ต้องการส่งเสริมเรื่องการผลิตประชากรควรจะมีการสนับสนุนส่วนนี้ เช่นเดียวกับถุงยางอนามัย และยาคุมกำเนิด

ทั้งนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าผ้าอนามัยที่ต้องใช้ในหนึ่งเดือนจะอยู่ที่ 350-400 บาท เท่ากับว่าผู้ที่มีประจำเดือนต้องทำงานมากกว่าคนที่ไม่มีหนึ่งวันเพื่อจะได้เงินเดือนเท่ากัน

“ค่าอาหารกับค่าผ้าอนามัยมีราคาสูงใกล้เคียงกัน ทำให้บางคนต้องอดอาหารเพื่อมาซื้อผ้าอนามัย หรือเลือกใช้กระดาษทิชชู่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างพอเพียง อันมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจซึ่งสิ่งนี้คือ Period Poverty ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งสหประชาชาติ (UN) ก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เช่นกัน” นายชานันท์ กล่าว

นายชานันท์ กล่าวว่า สำหรับโครงการนำร่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี ในพรรคเพื่อไทย ก็ได้ศึกษาข้อมูลภายในพรรคอย่างละเอียดก่อนเริ่มโครงการ โดยพยายามสำรวจคนทุกกลุ่มที่ทำงานภายในพรรค เช่น แม่บ้าน ลูกจ้างรายวัน Outsource เจ้าหน้าที่ร้านกาแฟหน้าพรรค ฯลฯ เพื่อให้สวัสดิการผ้าอนามัย สามารถให้บริการทุกคนได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ในด้านจุดการบริการจะจัดเป็นตู้ลิ้นชักใส่ผ้าอนามัยไว้ในห้องน้ำ โดยมีตัวเลือก จำนวน 4 ไซส์ คือ 24 ซม. 29 ซม. 34 ซม. และ 42 ซม. อีกทั้งยังไม่ได้จำกัดให้ใช้ได้แค่เวลาทำงาน แต่ยังสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้เช่นกัน และหลังจากนั้นในทุกๆ เดือน จะมีการสำรวจข้อมูลผ้าอนามัยในกล่องว่าถูกหยิบใช้ไปเท่าไหร่ จำนวนที่สำรองไว้เหลือเท่าไหร่ รวมถึงมี QR code เพื่อให้สแกนตอบแบบสอบถามความพึงพอใจด้วย

สำหรับโครงการนำร่องฯ ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้บริการผ้าอนามัยที่แบบออร์แกนิค เพราะผ้าอนามัยหนึ่งชิ้นจะใช้เวลา 500-600 ปีในการย่อยสลาย เพราะมีส่วนประกอบของสารเคมีบางชนิด และสารเคมีอาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้

“เราต้องการให้พัฒนาเป็นสวัสดิการพื้นฐานกับทุกคนที่มีประจำเดือน เหมือนน้ำ หรือไฟฟ้า เพราะคนเป็นประจำเดือนไม่ใช่แค่ 3-6 เดือน แต่เฉลี่ยอย่างน้อย 41 ปี รวมถึงทางพรรคเองคิดว่าถ้าจะผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการในภาพใหญ่ก็ควรเริ่มจากการให้สวัสดิการภายในบ้าน หรือพรรคตัวเองก่อน” นายชานันท์ กล่าว

สำหรับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยทำเป็นข้อเสนอสำหรับรัฐในการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยมีดังนี้

1. วางระบบให้ผู้มีประจำเดือนทุกคนเข้าถึงผ้าอนามัย โดยสามารถวางระบบแจกผ้าอนามัยได้ใน 3 ช่องทางคือ ช่องทางแรก แจกผ่านหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะให้บริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย คนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา คนในครอบครัวยากจน คนไร้บ้าน คนข้ามชาติ และคนไร้สัญชาติ ที่ต้องมีประกันสังคมตามบัตรชมพู และเหลือง ช่องทางที่สอง แจกผ่านกระทรวงศึกษาธิการ กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม สำหรับนักเรียนนักศึกษา และคนในเรือนจำ ช่องทางที่ สาม แจกผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับประชากรวัยทำงานงานในระบบแรงงาน

2. จัดสรรงบประมาณจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.6% ของงบประมาณปี 2565 โดยนำงบจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของผ้าอนามัยมาเพิ่มให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้อีก 1.4 หมื่นล้านบาท

3. จัดซื้อผ้าอนามัยที่มีคุณภาพ เนื่องจากผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมมาตรฐานตาม 4 หลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ได้แก่ 1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม 2. หลักเกณฑ์การพิจารณาแจ้งจบเครื่องสำอาง พ.ศ.2562 3. มาตรฐานอุตสาหกรรม ผ้าอนามัยตามแนวมาง มอก.152-2541 เครื่องสำอาง และ 4. ข้อกำหนดฉลากเขียว ดังนั้นรัฐสามารถใช้ระบบประมูลในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ผู้ผลิตผ้าอนามัยที่ถูกต้องตามมาตรฐานทั้ง 4 หลักเกณฑ์ เข้าร่วมประมูล