ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

11 ปี คือตัวเลขระยะเวลาของผู้หญิงในวัยเรียน (อายุ 12-23 ปี) ที่ต้องซื้อหา “ผ้าอนามัย” มาใช้เอง

ในเมื่อผ้าอนามัยต้องใช้ทุกเดือน นั่นหมายความว่าตลอดช่วงอายุดังกล่าว ผู้หญิงต้องซื้อผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 132 ครั้ง (ครั้งละเดือน)

หากในช่วงที่มีรอบเดือนในแต่ละเดือน ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ย 5 ชิ้น คิดราคาชิ้นละ 5 บาท เท่ากับว่า ผู้หญิงในวัยเรียนต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 13,200 บาท เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน เช่น ค่ายาแก้ปวดท้อง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก

นี่จึงกลายมาเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานทั้งในไทยและต่างประเทศว่า รัฐควรมีสวัสดิการ “ผ้าอนามัย” ไว้ให้บริการแก่ผู้หญิงฟรีหรือไม่

นั่นเพราะช่วงอายุที่เริ่มเป็นประจำเดือน ยังอยู่ในช่วงวัยเรียน นักเรียนหญิงจึงยังไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งที่การมีประจำเดือน เป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายที่เลือกไม่ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 มีโมเดลต้นแบบในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ เป็นความพยายามของสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ที่ได้จัดทำโครงการ “สวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉิน” ขึ้นมา

นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการริเริ่มบริการดังกล่าว

The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายเนาว์ฟัล เมาะมูลา ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉิน มอ.ปัตตานี ถึงเส้นทางอันขรุขระของโครงการ กับความหวังที่จะสร้างความเท่าเทียมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จุดเริ่มต้นมาจากสภาพสังคมที่ดำรงอยู่

นายเนาว์ฟัล เล่าว่า แนวคิดของการผลักดันเรื่องการทดลองแจกผ้าอนามัยฉุกเฉิน เป็นผลมาจากการตระหนักว่าที่ผ่านมาประเด็นสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะข้อจำกัดเรื่องบริบทของพื้นที่ ศาสนา และความคิดของผู้คน ซึ่งมักมีแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่อย่างเข้มข้น รวมถึงยังมีความที่ล้าหลังในสังคม จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะสามารถผลักดันประเด็นสิทธิและความเท่าเทียมให้กับสังคมในรูปแบบใดได้บ้างภายใต้บริบทแบบนี้

ประจวบเหมาะกับช่วงต้นปี มหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการรณรงค์ให้มีการแจกผ้าอนามัยแก่นักศึกษาหญิงฟรี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เลยถือโอกาสดังกล่าวร่วมรณรงค์ด้วย

“ขณะรณรงค์ ด้านหนึ่งได้เป็นการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่อีกด้านก็มีกระแสตีกลับด้วยเช่นกัน อาทิ การตั้งคำถามต่อสวัสดิการที่ผู้ชายควรจะได้บ้าง” นายเนาว์ฟัล กล่าว

นายเนาว์ฟัล บอกอีกว่า จากการร่วมรณรงค์ก็ได้เห็นถึงผลดีของสวัสดิการดังกล่าว จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลและติดต่อประสานกับส่วนงานอื่นๆ เพื่อก่อรูปโครงการ โดยเริ่มกระบวนการนี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 แต่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในวันที่ 3 ก.พ. 2565 เพราะหลังจากเกิดกระแสต่อต้านบางส่วน ทำให้ต้องประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ รวมไปถึงจะสามารถช่วยนักศึกษาได้จริงหรือไม่

ต้องเป็นสวัสดิการผ้าอนามัยที่ยั่งยืน

นายเนาว์ฟัล เล่าว่า การประสานงานในการจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เรื่องตัวระบบ การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ได้ความช่วยเหลือจากทางผู้รับผิดชอบงานนโยบายของ มช. และเจ้าหน้าที่ดูแลด้านกิจกรรมนักศึกษารวมถึงประธานสภานักศึกษา องค์การนักศึกษาของ มอ.ปัตตานี มาให้คำปรึกษาในการดำเนินการโครงการเพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง

อีกส่วนคือการสื่อสารเก็บข้อมูลและประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 รอบ ในรอบแรกเป็นการสำรวจความต้องการของนักศึกษาผ่านแบบฟอร์มเก็บข้อมูล เช่น ควรติดตั้งตู้ให้บริการบริเวณใด ยี่ห้อ และขนาดผ้าอนามัย ฯลฯ โดยสามารถรวบรวมความเห็นนักศึกษาได้ 1,000 คน ซึ่งส่วนนี้ก็สะท้อนถึงความสนใจของนักศึกษาพอสมควร

ส่วนรอบที่สองเป็นการสื่อสารพูดคุยระหว่างองค์กรต่างๆ ในมหาวิทยาลัย อาทิ สโมสรนักศึกษา สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา และกรรมมาธิการสวัสดิการ เพื่อมาถกเถียงแลกเปลี่ยนร่วมกันหาวิธีทำให้โครงการนี้เป็นสวัสดิการที่ยั่งยืนแก่ผู้หญิงในมหาวิทยาลัย รวมถึงการเจรจากับร้านค้าในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยในการจัดซื้อผ้าอนามัยมาให้บริการ อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยเองก็เห็นคุณค่าในเรื่องดังกล่าว จึงอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อผ้าอนามัยให้กับโครงการทดลองในครั้งนี้

“สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทดลองครั้งนี้คือการปลูกฝังแนวคิดการสร้างความเท่าเทียมในสังคมมหาวิทยาลัย รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งอยากเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้สัมผัส และนำไปปรับใช้ในการส่งเสริมคุณค่าดังกล่าวให้แพร่หลายมากขึ้น” นายเนาว์ฟัล กล่าว

สำหรับการทดลองขณะนี้ ได้ตั้งตู้สำหรับแจกผ้าอนามัยจำนวน 5 จุด ในหนึ่งตู้มีผ้าอนามัยจำนวน 30 ชิ้น โดยเป็นจุดที่นักศึกษาหญิงสามารถรับได้สะดวกที่สุด เช่น ห้องน้ำ โรงอาหาร ฯลฯ ซึ่งการรับผ้าอนามัยนั้นได้ขอความรู้มือนักศึกษาในการสแกนคิวอาร์โค้ดสำหรับกรอกข้อมูลในการเข้ารับ

ทั้งนี้ ในช่วงแรกแบบฟอร์มสำรวจข้อมูลจาก Google Form เกิดปัญหาในทางเทคนิค ทำให้เสียข้อมูลที่ช่วงเริ่มต้นไปจำนวนนึง ซึ่งจากการแก้ไขจนใช้ได้ปกติเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หนึ่งสัปดาห์พอดี จำนวนผู้มารับโดยอิงจากจำนวนผ้าอนามัยที่คงเหลือที่จุดบริการ ประเมินว่ามีคนมารับถึง 100-200 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้อัตราในการรับผ้าอนามัยช่วงทดลองนี้ไม่มีกำหนดว่า 1 คนสามารถรับได้กี่ชิ้น แต่เป็นการให้รับได้ตามความต้องการใช้ของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันทาง มอ.ปัตตานี ได้ให้นักศึกษากลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ หรือสถานที่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนทั้งหมด โดยอีกร้อยละ 70 ยังคงเป็นการเรียนออนไลน์เป็นหลัก

การที่ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ผลักดันให้เป็นบริการเต็มรูปแบบในระยะยาว เนื่องจากต้องการข้อมูลที่แสดงถึงผลลัพธ์ของการแจกผ้าอนามัยก่อนว่ามีผลตอบรับจากนักศึกษา และประสิทธิภาพการใช้งานเป็นอย่างไรก่อน เพื่อนำไปพิจารณาและส่งเสริมในกระบวนการต่อไปในอนาคต

ก้าวต่อไปที่ยังไม่แน่นอนของสวัสดิการผ้าอนามัย

นายเนาว์ฟัล เล่าถึงความคาดหวังในอนาคตว่า หากเป็นไปได้จะทำการแจกผ้าอนามัยที่ไม่จำกัดเฉพาะความฉุกเฉินของบุคคล แต่จะแจกให้กับทุกคนได้ฟรีทุกกรณี รวมถึงให้ทุกคนสามารถเลือกผ้าอนามัยที่เหมาะกับตัวเองได้ ซึ่งถ้าการแจกเกิดปัญหาในงบประมาณการจัดซื้อ จะพยายามผลักดันให้มีตู้ขาย หรือร้านขายให้กระจายให้ครอบคลุมมากขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งราคาขายต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าซื้อจากร้ายสะดวกซื้อ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาหญิงให้มากที่สุด

“ในระยะยาวผมไม่รู้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนงบประมาณให้เราไปได้นานแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราก็พยายามวางแผนในการจัดการส่วนนี้ด้วยตัวเองเป็นแผนสำรองไว้เผื่อเกิดกรณีนั้นด้วย” นายเนาว์ฟัล กล่าว

นายเนาว์ฟัล ทิ้งท้ายว่า การทดลองในครั้งนี้เป็นการยกระดับความเท่าเทียมให้ชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน เพราะอย่าลืมว่าผู้หญิงมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้อันมาจากกระบวนของร่างกาย ในขณะที่ผู้ชายไม่มีตรงนั้น ดังนั้นการที่จะช่วยไม่ให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ฝ่ายเดียว เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรทำหรือเปล่า รวมถึงอยากสื่อสารให้สังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าใจในเรื่องนี้ด้วย