ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.พัฒนาสิทธิประโยชน์แก่ "หญิงไทยตั้งครรภ์ทุกสิทธิ" มีสิทธิรับบริการ "ฝากครรภ์คุณภาพ" กับกองทุนบัตรทอง ล่าสุดปี 2565 ขยายบริการจากเดิม 5 ครั้งเป็น "ไม่จำกัด" ตามดุลยพินิจของแพทย์ พร้อมขยายการคัดกรอง "ซิฟิลิส-ธาลัสซีเมีย" สำหรับสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกคน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ประชากรที่มีคุณภาพต้องได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ เพื่อให้ทารกที่เกิดมามีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง เจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย สปสช.เน้นให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์คุณภาพ ตามแนวทางการดูแลการตั้งครรภ์ที่กรมอนามัย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกแนะนำ พร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปี 2559 สปสช.ได้กำหนดให้หญิงตั้งครรภ์มีสิทธิได้รับบริการฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง และในปี 2562 ได้ปรับการจ่ายสำหรับบริการฝากครรภ์จากเดิมที่จ่ายแบบเหมาจ่าย เป็นการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนดราคา (fee schedule) พร้อมอำนวยความสะดวกให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้ทุกที่

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการฝากครรภ์คุณภาพ ตามแนวทางการบริการฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์ของกรมอนามัย จำนวน 8 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ขยายสิทธิประโยชน์การฝากครรภ์คุณภาพจากเดิม 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแลพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น

"หญิงตั้งครรภ์สามารถนัดตรวจติดตามเพื่อดูแลเพิ่มเติมได้ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าฝากครรภ์จะได้รับบริการ อาทิ การซักประวัติ วัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ ประเมินความเสี่ยง ประเมินสุขภาพจิต วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ยาเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีนและโฟลิก ตรวจปัสสาวะ" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สปสช.ได้แยกการจ่ายสำหรับบริการฝากครรภ์และการตรวจทางห้องแล็ปหรือห้องปฏิบัติการที่จำเป็นออกจากกัน รวมถึงการจ่ายเฉพาะการตรวจและบริการพิเศษ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้อย่างสะดวก และได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด โดยให้บริการตรวจห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย ตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจคัดกรองโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV และ/หรือ DCIP) และหมู่โลหิต (ABO/Rh) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจสุขภาพช่องปากและบริการขัดทำความสะอาดฟัน การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือถัดมา และตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ซ้ำอีกครั้ง เมื่อใกล้คลอด

"ในแต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิเข้ารับบริการฝากครรภ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 4-5 แสนรายต่อปี เป็นงบประมาณดูแลกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิได้รับบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมและทั่วถึง ส่งผลดีต่อทารกในครรภ์ พร้อมเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกันนี้ยังเป็นการรับมือกับสภาวะการณ์ที่ประเทศมีเด็กเกิดใหม่ลดลงและยังมีปัญหาด้อยคุณภาพ" เลขาธิการ สปสช. กล่าว   

นพ.จเด็จ ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นปีงบประมาณ 2565 บอร์ด สปสช. ได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ตรวจคัดกรองพร้อมกับหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสามีสู่หญิงตั้งครรภ์และส่งผลต่อทารกในครรภ์ และการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อ-แม่-สู่ลูก เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของทารกในครรภ์ได้เร็วขึ้น ช่วยให้สามารถวางแผนการดูแลครรภ์หรือเตรียมความพร้อมของพ่อ-แม่ด้วย  

"การฝากครรภ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์เองและทารกในครรภ์ ขอแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกท่านไปรับบริการฝากครรภ์ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน หรือหน่วยบริการที่ท่านไปใช้บริการเป็นประจำ ทั้งนี้ไม่ควรเปลี่ยนหน่วยบริการฝากครรภ์หลายแห่ง เพื่อประโยชน์ในการดูแลและติดตามครรภ์อย่างต่อเนื่อง" เลขาธิการ สปสช. กล่าว