ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่วมกับ สปสช. หนุนสาวไทยวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปีทั่วประเทศ ใช้บัตร ปชช. ใบเดียว หรือ เข้าแอปฯ เป๋าตัง รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกที่ร้านยาที่มีสติกเกอร์ เพื่อลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เตรียมพร้อมตั้งครรภ์คุณภาพ - ลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด พร้อมชู 47 สถานประกอบการ เป็นสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ


วันที่ 14 ก.พ. 2567 พลเรือโทนิกร เพชรวีระกูล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานงานรณรงค์สาวไทยแก้มแดง ว่า สธ. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม ร่วมกันขับเคลื่อนระบบสุขภาพของคนไทยให้สมบูรณ์และยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนสถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพแรงงาน ขับเคลื่อนเป็นสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดง และต่อยอดขยายผลและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี สนับสนุนการเกิดมีคุณภาพ

ทั้งนี้ มีเป้าหมาย คือ หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต ร่างกายมีความพร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ และรองรับการตั้งครรภ์ในอนาคต ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่คลอดบุตร 6 เดือนขึ้นไป ส่งผลให้ในปี 2566 มีสถานประกอบการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสาวไทยแก้มแดง จำนวน 47 แห่ง

ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย สธ. กล่าวว่า หากหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือ ร่างกายเก็บสะสมธาตุเหล็กไว้ไม่เพียงพอ เมื่อตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อทั้งมารดา และทารกในครรภ์ โดยผลกระทบมารดา คือ รกลอกตัวก่อนกำหนด และการคลอดก่อนกำหนด สำหรับผลกระทบต่อทารก คือ อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ (น้อยกว่า 2,500 กรัม) อาการตัวเหลือง

ดร.นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูล Health Data Center สธ. ปี 2566 พบว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี มีภาวะโลหิตจาง 48.7% โดยตามมติสมัชชาอนามัยโลก Global Nutrition Targets ที่ตั้งเป้าหมายลดภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลง 50% ในปี พ.ศ. 2573 ยังไม่บรรลุเป้าหมาย กล่าวคือ ในขั้นต้นประเทศไทยควรมีภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ไม่เกิน 24.3% และลดลงให้เหลือ 12.7% ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการและมีมาตรการป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่อง

“กรมอนามัย สธ. ได้ร่วมมือกับ สปสช. เพิ่มช่องทางให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 13 ถึง 45 ปีได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกได้สะดวกยิ่งขึ้น เพียงถือบัตรประชาชนมาที่ร้านยาที่มีสติกเกอร์ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ หรือใช้แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค เลือกรับบริการที่ต้องการหรือจองคิวล่วงหน้าได้เลย

“นอกจากการกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และสำหรับผู้เตรียมตั้งครรภ์ต้องกินติดต่อกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ กรมอนามัยยังส่งเสริมให้หญิงไทยกินผัก ผลไม้ และเลือกแหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ เลือด จะช่วยลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิดซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพเป็นสาวไทยแก้มแดงของไทยต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว