ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตให้ความเห็นถึง "ภาษีความเค็ม" ชี้หลายประเทศมีการเก็บมานาน-ได้ผลดี ช่วยลดการบริโภคโซเดียมของประชากร ย้ำไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เพราะเก็บจากผู้ผลิต-ขึ้นเพียงหลักสตางค์


น.อ.หญิง พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี อายุรแพทย์โรคไต ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง เปิดเผยในรายการ “คุยเรื่องไต ไขความจริง” โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า ดังนั้นภาครัฐจึงเริ่มมีการวางแผนเก็บภาษีความเค็มเพื่อเป็นหนึ่งเครื่องมือที่มุ่งหวังให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม

สำหรับโซเดียมหรือความเค็ม เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ เช่น โรคไต โรคความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต มะเร็งกระเพาะ และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

พญ.วรวรรณ กล่าวว่า ภาษีความเค็มนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศเองก็มีการเก็บภาษีความเค็มมานานแล้วและได้ผลดี เช่น ประเทศฮังการี ที่มีประชากรราว 9.75 ล้านคน หรือแม้แต่ประเทศโปรตุเกส ที่มีประชากรราว 10 ล้านคน ล้วนมีการเก็บภาษีความเค็มเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชากรในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีความเค็มนั้นไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนแต่อย่างใด หากแต่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ โดยจะคิดตามสัดส่วนปริมาณโซเดียมที่เกินกว่ากำหนด ซึ่งจะขึ้นเพียงหลักสตางค์เท่านั้น

"ภาครัฐวางแผนจะเริ่มเก็บภาษีความเค็ม กลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูงและไม่ใช่อาหารหลักที่จำเป็น โดยจะประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริโภค และให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี" พญ.วรวรรณ ระบุ

พญ.วรวรรณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การปรุงอาหารรับประทานเอง จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมได้มากกว่าการรับประทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากเราสามารถเลือกวัตถุดิบและกรรมวิธีในการปรุงอาหารได้เอง ซึ่งอาหารทุกชนิดมีโซเดียมประกอบมากน้อยต่างกัน อย่างอาหารง่ายๆ เช่น ไข่ต้ม จะมีค่าโซเดียมจากสารอาหารธรรมชาติที่แม่ไก่กินอยู่ที่ 30 มิลลิกรัม แต่หากเปลี่ยนมาเป็นไข่เจียว จะมีโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 900-1000 มิลลิกรัม

"อย่างกะเพราหมูสับ มีปริมาณโซเดียม 1200-1500 มิลลิกรัมต่อจาน เนื่องจากมีการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ที่มีโซเดียม ดังนั้นวิธีการลดปริมาณโซเดียมที่ง่ายที่สุด คือการปรุงอาหารรับประทานเองเพื่อควบคุมปริมาณเครื่องปรุงและกรรมวิธีประกอบอาหาร" พญ.วรวรรณ กล่าว