ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันนี้ พืช “กัญชา” ได้กลายเป็นพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นไปเมล็ดจนถึงราก ทั้งในทางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นส่วนประกอบตำรับยาทางเลือก ประกอบอาหาร นำมาใช้ในทางสันทนาการ ไปจนถึงนำตัวต้นเองมาผลิตเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ

ในประเทศไทยเอง รัฐบาลก็ได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ “กัญชา” สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์และบริโภคทั่วไปได้ถ้าได้รับอนุญาตถูกต้อง ยกเว้นไว้เพียงแค่การใช้เชิงสันทนาการเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563

แต่งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ในวารสาร Toxin Reviews นักวิจัยได้เปิดเผยว่ากัญชาอาจจะมีอันตรายอย่างไม่คาดคิด เพราะว่าตัว “พืช” เองมีความสามารถในการดูดซับ “โลหะหนัก” ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่ากัญชาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปจะมีการ “ปนเปื้อน” เกิดขึ้น ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

“โลหะหนัก จำพวกตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านำไปสู่มะเร็ง ได้ปนเปื้อนอยู่ในกัญชาที่ไม่ได้รับการดูแลบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะได้รับสารเหล่านี้อย่างไม่รู้ตัว นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ที่ใช้กัญชาโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้กัญชาในการรักษาหรือลดอาการเจ็บปวด” หลุยส์ เบงเยลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท กล่าว

เบงเยลลา กล่าว่า ปัญหาสำคัญของมันก็คือว่า หลายต่อหลายครั้ง กัญชามักถูกนำไปใช้ปลูกเพื่อลดภาวะปนเปื้อนที่อยู่ในดิน น้ำ และอากาศ หรือที่เรียกกันว่า “บำบัดโดยพืช” ควบคู่ไปกับการปลูกเพื่อบริโภค นั่นจึงทำให้ความไม่รู้ถึงการปนเปื้อนในตัวกัญชาอาจจะนำไปสู่การทำให้ผู้บริโภคได้รับโลหะหนักไปด้วย

นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการปนเปื้อนของโลหะหนักในต้นกัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากผลการบำบัดโดยพืชที่ใช้กัญชาเป็นตัวบำบัด รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดจากการบริโภคต้นกัญชาต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ทีมนักวิจัยพบว่า กัญชาถูกนำมาเป็นพืชบำบัดดิน น้ำ และอากาศ เพราะลักษณะเฉพาะของมันที่มีความแข็งแรง เติบโตได้เร็ว มีรากและใบที่ยาวเหมาะสมในการครอบคลุมพื้นที่ รวมถึงมีความสามารถในการบำบัดสิ่งปนเปื้อนในธรรมชาติที่สูงอันรวมถึงการดูดซับโลหะหนักเข้าไปด้วย นักวิจัยยังพบอีกว่า สารจำพวกแคดเมียมและโครเมียมได้ถูกดูดซับไปปนเปื้อนอยู่ในส่วนของใบและดอกของกัญชาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สารเหล่านั้นก็จะถูกระบายออกไปทาง “ไตรโคม” (Trichomes) หรือขนเล็ก ๆ ที่อยู่ตามดอกของกัญชา

“ไตรโคมของกัญชาเป็นส่วนสำคัญของกัญชา เพราะมันเป็นจุดที่เก็บสารอย่าง cannabidiol หรือ CBD และ Tetrahydrocannabinol หรือ THC อันเป็นสารที่ผู้บริโภคต้องการ ดังนั้นเราจึงมีคำถามว่าถ้ามีสารโลหะหนักหลงเหลือในไตรโคม มันจะก่อให้เกิดอะไรกับผู้คนได้บ้าง” เบงเยลลา กล่าว

จากนั้น ทีมนักวิจัยยังทำการสำรวจต่อไปที่ผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากโลหะหนัก แล้วก็ได้พบว่า โลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในกัญชานั้นสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลากหลาย เพราะโลหะหนักเหล่านั้นได้รับการแปลงสภาพน้อยมาก และก็จะเข้าไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ ซึ่งสารพิษเหล่านั้นก็จะเข้าไปทำอันตรายต่อ เอนไซม์ โปรตีน ลิพิด และกรดนิวคลีอิก อันเป็นต้นธารของการเกิดมะเร็งและปัญหาทางระบบประสาทในที่สุด

“การบริโภคกัญชาสามารถนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่อันตรายได้ จากการวิเคราะห์โลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในการสูบกัญชาพบว่า ควันที่สูดเข้าไปมีการปนเปื้อนของโลหะหนักจำพวก ซีลีเนียม ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว โครเมียม นิกเกิล และสารหนู มันจึงเป็นที่น่าหวาดหวั่นมากว่าการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็ง อาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างไม่จำเป็น” เบงเยลลา กล่าว

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท ได้สรุปว่า การเปลี่ยนวิถีทางเกษตรกรรมต้องเกิดขึ้น เช่นการเลือกพันธุ์กัญชาที่ไม่มีความสามารถในการดูดซับสิ่งปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ หรือเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่ในดินไม่มีการปนเปื้อนของสารอัตราย นักวิจัยได้เสนอทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเลือกพื้นที่เพาะปลูก คือ ไม่เลือกพื้นที่ที่เคยเป็นเขตอุตสาหกรรม และ ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์การปนเปื้อนในอากาศและดินก่อนทำการเพาะปลูกกัญชา

“ปัญหาด้านสุขภาพนั้นเกิดขึ้นกับผู้บริโภคกัญชา แต่ทางออกของปัญหาต้องแก้ที่ระดับการทำเกษตรกรรม เราเชื่อว่านั่นคือจุดที่เราต้องลงมือแก้ไขและขจัดปัญหา” เบงเยลลา ระบุ

อ้างอิง
https://www.psu.edu/news/research/story/cannabis-may-contain-heavy-metals-and-affect-consumer-health-study-finds/
https://www.researchgate.net/publication/352083334_Global_Impact_of_Non-essential_Heavy_Metal_Contaminants_in_Industrial_Cannabis_Bioeconomy