ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบช.จัดประชุมทิศทาง-บทบาทบุคลากรใน "ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ" เผยการผลิต "พยาบาล" ในอนาคตจะมุ่งเน้นงานบริการปฐมภูมิ-เรียนรู้แบบสหสาขาวิชา พร้อมให้ฝึกงานใน รพ.สต.-รพช. สร้างความเข้าใจ-ทัศนคติพร้อมทำงานร่วมกับชุมชน


ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พยาบาลกับบริการสุขภาพปฐมภูมิ” ภายในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทิศทางและบทบาทของบุคลากรสุขภาพในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตบุคลากรสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยพัฒนาการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพที่ใกล้บ้าน เป็นกันเอง สามารถดูแลได้ต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยลดภาระโรค ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศและชุมชน ด้วยบริการปฐมภูมิทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร้านขายยา แพทย์แผนไทย กายภาพบำบัด เป็นต้น

ศ.พิเศษ นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กล่าวว่า การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องมีความสามารถทั้งด้านบริการปฐมภูมิ การเรียนรู้แบบสหสาขาวิชาชีพ (IPE) ระบบสุขภาพชุมชน (community health) ระบบสุขภาพครอบครัว (family health) การส่งต่อผู้ป่วย การตัดสินใจด้านการพยาบาล

"แต่ละวิทยาลัยพยาบาลจึงจะต้องทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อผลิตพยาบาลที่มีความเข้าใจชุมชน และสามารถทำงานในชุมชนได้อย่างมีความสุข โดยนักศึกษาพยาบาลก็จะต้องฝึกงานใน รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เพื่อพัฒนาทัศนคติและเตรียมความพร้อมการทำงานร่วมกับชุมชน" อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าว

รศ.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การผลิตจำนวนพยาบาลจะเพิ่มจากจำนวน 2 แสนคน เป็น 3 แสนคน เพื่อดูและสังคมผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ประกอบกับการผลิตผู้ช่วยพยาบาล เพื่อทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพในการดูแลประชาชน

ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการทำงานของพยาบาลร่วมกับสหวิชาชีพ ในการพัฒนาบทบาทความรับผิดชอบของพยาบาล ต่อการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งรวมถึงการทำงานในด้านวิชาชีพ การทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ การทำงานด้านบริหารจัดการ และการประสานงานร่วมกับชุมชน เพื่อเสริมทักษะการให้บริการประชาชนในชุมชน

"การผลิตพยาบาลจะต้องเตรียมการประสานงานร่วมกับเครือข่ายสุขภาพ เช่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรวิชาชีพพยาบาล ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง" รศ.ทัศนา ระบุ

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงนั้น ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูง เพียงแต่เพิ่มหน่วยบริการใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพได้ง่าย เช่น การรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ร่วมกับระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การส่งยาทางไปรษณีย์ หรือการส่งเสริมการดูแลประชาชนโดยระบบสุขภาพปฐมภูมิในการดูแลตนเอง

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมินับเป็นจุดคานงัดของ คุณภาพในระบบสาธารณสุขไทยที่มีประชาชนเป็นหลัก อันเป็นวิวัฒนาการของการศึกษาด้านสุขภาพ จากเมื่อ 100 ปีก่อนที่มีการเรียนภาคปฏิบัติเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มาสู่ปัจจุบันที่มุ่งเน้นศึกษาสุขภาพเชิงระบบ โดยเฉพาะระบบสุขภาพชุมชน ตลอดจนสังคมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ