ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ แนะ สปสช.เน้นหนักด้านการส่งเสริมป้องกันโรคเรื้อรังและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและมีทรัพยากรเหลือไปขยายสิทธิประโยชน์อื่นๆ พร้อมคาดหวังลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า


ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ "เข้าสู่ 2 ทศวรรษ ระบบหลักประกันสุขภาพไทยไปไกลแค่ไหน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หากพิจารณาผลกระทบของระบบหลักประกันสุขภาพตลอด 19 ปีที่ผ่านมาจากมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตนคิดว่ามี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ความต้องการของประชาชน จากการสำรวจระดับประเทศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของคนไทยคือการมีสุขภาพดีมากกว่าเรื่องรายได้หรือมิติทางสังคมอื่นๆ และสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตคือความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข และคนไทยเห็นว่ากิจกรรมที่ส่งผลต่อความสุขคือบริการทางสุขภาพ ผลสำรวจทั้งหมดนี้สะท้อนว่าระบบหลักประกันสุขภาพมีผลต่อความสุข ความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย

ประเด็นที่ 2 คืองบประมาณของรัฐ ในช่วงก่อนปี 2545 ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของทั้งประเทศ คนไทยต้องจ่ายค่ารักษาเอง 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ปี 2562 ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเองลดเหลือ 10% ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐ ปี 2545 มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลอยู่ที่ 11% ของค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16% กล่าวคือค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 5-6% แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายของประชาชนไปได้ถึง 25% ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพจึงส่งผลกระทบที่สูงมาก ทำให้ประชนเหลือเงินในกระเป๋า สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น

ประเด็นที่ 3 คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นต้นมา ระบบสุขภาพของไทยมีการเปลี่ยนแปลงสูงมากเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ อาทิ ระบบการศึกษา แต่สิ่งที่คิดว่าควรปรับปรุงต่อไปคือความเหลื่อมล้ำระหว่างสวัสดิการรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนสุขภาพ เพราะแต่ละกองทุนมีการรักษาไม่เหมือนกัน วิธีการจ่ายเงินไม่เหมือนกัน ทำให้เวลาผู้ป่วยไปเข้าโรงพยาบาลจะต้องถูกถามว่าใช้สิทธิอะไร ดังนั้นส่วนตัวคาดหวังเห็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างแต่ละกองทุนสุขภาพ ในระยะ 10-20 ปีข้างหน้าอยากเห็นว่าเวลาผู้ป่วยไปหาหมอแล้วคนไข้จะไม่ถูกถามว่าใช้สิทธิอะไรอีกต่อไป

ดร.วรวรรณ ให้ข้อคิดเห็นอีกว่า ในส่วนของความท้าทายด้านงบประมาณต่อระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคตมี 2 เรื่อง คือ 1.โรคเรื้อรังที่มาพร้อมสังคมสูงวัย และ 2.การเจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถป้องกันได้ ดังนั้นถ้าสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาโรคเรื้อรังและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีทรัพยากรเหลือไปขยายสิทธิประโยชน์ในโรคอื่นๆ อย่างไรก็ดี การจะเกิดการป้องกันให้ได้ผลไม่ใช่แค่เรื่องของ สปสช.ฝ่ายเดียว ต้องทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ ในเชิงรุกให้มากขึ้น

“อีกประเด็นคือเรามักมองค่าใช้จ่ายระบบหลักประกันสุขภาพเทียบกับ GDP แต่ด้วยโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลง สัดส่วนค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพจึงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ GDP ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจึงเป็นภัยคุกคามอีกด้านของระบบ ดังนั้นการจัดการโรคเรื้อรังและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้ดีและมีทรัพยากรเหลือ จะเป็นปัจจัยสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต”ดร.วรวรรณ กล่าว