ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนใน “ผู้หญิงวัยทอง” จะนำไปสู่การเสื่อมถอยของ “เนื้อสมองสีเทา” ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับประสาทและการรับรู้ต่างๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้ใหม่ หรือแม้กระทั่งด้านอารมณ์

การเสื่อมลงของเนื้อสมองสีเทานี่เอง ที่เป็นสาเหตุของการเกิด “อัลไซเมอร์” ได้

ล่าสุด ทีมวิจัยจาก Weill Cornell Medicine ร่วมมือกับ University of Arizona ได้รายงานถึงผลการศึกษาของพวกเขาว่า การสะสมเอสโตรเจนในร่างกายในจำนวนมาก เช่น จากการรักษาภาวะวัยทองด้วยฮอร์โมน หรือแม้กระทั่งการ “มีลูก” หลายคน อาจจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการลดการเสื่อมของสมองลงไปได้

รายงานเรื่องนี้คือ Association of Reproductive History With Brain MRI Biomarkers of Dementia Risk in Midlife ถูกเผยแพร่วารสาร Neurology เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ผู้หญิง 99 คน ในช่วงอายุปลาย 40 ถึง ปลาย 50 ปี ใช้ข้อมูลทั้งประวัติส่วนตัว ผลการสแกน MRI และผลการทดสอบการรับรู้ (Cognitive test)

ทีมวิจัยเผยว่า การลดลงและเสียหายของระดับเนื้อสมองสีเทา (Gray matter volume - GMV) นั้นเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอนกับการเกิดอัลไซเมอร์ แต่การคงระดับการผลิตหรือได้รับเอสโตรเจนจะสามารถทำให้สามารถที่เพิ่มหรือคงระดับของ GMV ไว้ได้

นั่นหมายความว่า เอสโตรเจนคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องสมอง ลดการเสียหายของเนื้อสมองสีเทาที่เป็นผลมากจากภาวะวัยทอง และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

ลิซ่า มอสโคนี่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิคป้องกันโรคอัลไซเมอร์จาก Weill Cornell Medicine กล่าวว่า เราค้นพบว่า แม้ภาวะวัยทองนั้นก็ให้เกิดความอ่อนแอในสมองของผู้หญิง แต่การฟื้นฟูการผลิตสารต่างๆ ในร่างกาย เช่นการฟื้นฟูการผลิตเอสโตรเจนจะสามารถช่วยหยุดความอ่อนแอนั้นได้

จากการคำนวณของทีมวิจัยพบว่า สองในสามของผู้มีอาการอัลไซเมอร์ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หญิง ซึ่งการแพร่หลายในผู้หญิงนั้น ทีมวิจัยได้ตั้งสมติฐานเอาไว้ว่า สาเหตุที่ผู้หญิงมีสถิติการพบอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชายเป็นเพราะผลกระทบจากเอสโตรเจนในผู้หญิงนั้นมีมากกว่า

ตัวรับเอสโตรเจน โดยปกติสามารถพบได้จำนวนมากในเซลล์ทั่วไปในสมองของผู้หญิง และเอสโตรเจนนี่เองที่ช่วยในเรื่องพัฒนาการและปกป้องระบบศูนย์กลางประสาทในสมองของผู้หญิง แต่การปกป้องของมันก็ไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป เพราะเมื่อเข้าสู่ภาวะวัยทอง เอสโตรเจนในสมองก็จะลดลง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้ยืนยันอีกครั้งว่า GMV ในสมองของผู้หญิงนั้นลดลงจริงๆ และลดลงตั้งแต่ช่วงร่างกายเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยทองแล้ว

การลดลงของ GMV ส่งผลอย่างมากต่อเนื้อสมองสีเทา และเมื่อเกิดการลดลง ก็มีความเป็นไปได้เลยที่อาการอัลไซเมอร์ในสมองจะเริ่มพัฒนาตัวเองขึ้นในทันทีในวินาทีเดียวกัน!

ในด้านกลับของการค้นพบนี้ก็คือ ถ้าเช่นนั้น การมี GMV ในระดับที่คงเดิมก่อนเกิดภาวะวัยทองอย่างเพียงพอต่อเนื้อสมองสีเทาก็จะช่วยลดผลเสียที่ตามมาของภาวะวัยทองได้ ร่วมถึงลดความเสี่ยงต่อการพัฒนาของอาการอัลไซเมอร์ไปพร้อม ๆ กัน

การวิเคราะห์ข้อมูล ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 46 – 58 ปี กับผู้ชายที่มีช่วงอายุใกล้ๆ กัน และสามารถยืนยันได้ว่า ภาวะวัยทอง (ซึ่งมีทั้งชายและหญิง) และเอสโตรเจน สำหรับผู้หญิงแล้วส่งผลต่อความเสี่ยงกับอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย เพราะเมื่อ GMV ลดลงในผู้หญิง ไม่ใช่เพียงแค่เนื้อสมองสีเทาเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสมองส่วน “ฮิปโปแคมปัส” (เกี่ยวข้องกับความทรงจำระยะยาว) “เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก” (ศูนย์กลางความทรงจำของสมอง) และ “สมองกลีบขมับ” (ระบบความจำทางการเห็น) ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของอาการอัลไซเมอร์ทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าสามารถคงระดับของ GMV ไว้ได้หรือสามารถ “เติม” เอสโตรเจนเข้าไปในร่างกายได้ จะส่งผลดีเป็นอย่างมากต่อสมองส่วนที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการช่วยคงระดับ GMV ในช่วงที่มันกำลังจะลดลงจากภาวะวัยทองยังสามารถช่วยเสริมความต่อเนื่องของการผลิตเอสโตรเจนในร่างกายให้ยังคงผลิตออกมาได้ดั่งเดิม

ตัวอย่างของวิธีการช่วยรักษาระดับ GMV ไว้ในร่างกาย มีตั้งแต่การเติมหรือเปลี่ยนฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งที่ผ่านเอาไว้ใช้รักษาอาการของภาวะวัยทองในผู้หญิง หรือการมีบุตรหลายคนก็มีส่วนช่วย เพราะการตั้งครรภ์ คลอดบุตร และช่วงเวลาหลังคลอด จะเป็นช่วงเวลาที่เอสโตรเจนถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนของร่างกายที่จะมีส่วนในการช่วยรักษาระดับ GMV ในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการป้องกันภาวะเสื่อมหรือเสียหายของสมองและลดความเสี่ยงของอัลไซเมอร์

นอกจากการค้นพบผลของเอสโตรเจนที่สามารถป้องกันอัลไซเมอร์ได้แล้วนั้น การค้นพบนี้ยังสามารถตอบสมมติฐานที่ผ่านมาของนักวิทยาศาสตร์ว่า เอสโตรเจนมีความสามารถในการช่วย “ป้องกัน” อาการเจ็บป่วยต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งนี่จะเป็นการเปิดทางสู่การพัฒนาวิธีรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้หญิงด้วยการใช้เอสโตรเจนต่อไปในอนาคต

อีวา เชลบาม หนึ่งในผู้ช่วยวิจัยของมอสโคนี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เรากำลังก้าวกระโดดสู่การทำความเข้าใจในรายละเอียดของความเขื่อมโยงระหว่างเอสโตรเจนและ GMV ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบเอสโตรเจนกับอะไรหลายๆ อย่างได้แล้ว เช่นเรื่องของภาวะวัยทอง แต่ตอนนี้เราถึงเป้าหมายสำคัญแล้ว ซึ่งก็คือการเข้าใจแล้วว่าทำไมผู้หญิงถึงเสี่ยงกับอัลไซเมอร์มากกว่าใคร และจะทำอย่างไรได้ในการลดความเสี่ยงนั้น

อ้างอิง
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/11/211104140355.htm
https://news.weill.cornell.edu/news/2021/11/for-women-greater-exposure-to-estrogen-in-life-may-protect-brain-regions-that-are
https://n.neurology.org/content/early/2021/11/03/WNL.0000000000012941
https://www.netinbag.com/th/physiology/what-is-the-entorhinal-cortex.html
https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6944a7.htm
https://neurosciencenews.com/estrogen-exposure-brain-aging-19594/
https://www.newsbreak.com/news/2423584784521/association-of-reproductive-history-with-brain-mri-biomarkers-of-dementia-risk-in-midlif