ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ภาวะสมองเสื่อม’ คือร่มใหญ่ ส่วน ‘อัลไซเมอร์’ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุ ‘อันดับหนึ่ง’ ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก 

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประมาณการณ์ไว้ว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยราว 6-7 แสนคน มีภาวะสมองเสื่อม

เดิมต้องใช้วิธีตรวจชิ้นเนื้อสมอง ‘หลังเสียชีวิตเท่านั้น’ จึงจะสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้แน่ชัดว่าเป็นโรค ขณะที่ ‘ยา’ เข้ามาทำหน้าที่ได้เพียง ‘ประคับประคอง’ อาการได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา มนุษย์ค้นพบว่า ‘อัลไซเมอร์’ เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ที่เรียกว่าโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าและโปรตีนเทาว์ การค้นพบนั้นนำไปสู่วิทยาการใหม่ๆ ในการวินิจฉัยปัจจุบัน มีการส่งตรวจพิเศษ 

ได้แก่ 1. การตรวจภาพถ่ายรังสีนิวเคลียร์ด้วยเครื่องเพทสแกน ซึ่งจะตรวจจับโปรตีนและปริมาณการกระจายตัวในการสะสมของโปรตีนบนส่วนต่างๆ ของสมอง เพื่อแปลผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แยกโรคสมองเสื่อมอื่นๆ มีโอกาสกลายเป็นสมองเสื่อมเต็มขั้นมากแค่ไหน 

2. การตรวจระดับโปรตีนโดยตรงจากน้ำไขสันหลังและในเลือด และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ในอเมริกาและยุโรปได้มีการรับรอง ชุดตรวจในเลือด เพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้เพียงการเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้

มากไปกว่านั้น ยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้นในรูปแบบของ ‘แผ่นตรวจสำเร็จรูป’ โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจก็อาจจะตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ (แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง

1

ล่าสุด เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2566 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองให้สามารถใช้ยา ‘lecanemab’ สำหรับการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต้นได้ ทว่าปัจจุบันยายังมี ‘ราคาแพงมาก’ และยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว รวมถึงผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง 

มากไปกว่านั้น อาจต้องติดตามข้อมูลหลังการใช้จริงในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย 

สำหรับยา lecanemab ถือเป็น ‘ความหวังครั้งใหม่ของมนุษยชาติ’ และนับเป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ตัวที่ 2 ที่มุ่งจัดการกับพยาธิสรีรวิทยา (pathophysiology) ซึ่งเป็นกระบวนการ หรือกลไกที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ที่ได้รับการรับรองจาก FDA

Lecanemab ซึ่งเป็น anti-amyloid beta (Aβ) protofibril antibody พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Eisai ร่วมกับ Biogen ได้รับการรับรองภายใต้ accelerated approval program ของ FDA ที่เปิดโอกาสให้ FDA สามารถให้การรับรองยาที่จำเป็นสำหรับใช้ในการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับ ‘ประเทศไทย’ ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในผู้สูงอายุ ตลอดจนให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง อาทิ การประเมินความเสี่ยงต่อโรค การตรวจคัดกรองสุขภาพ พร้อมแนะนำการป้องกัน สามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่งเพียงยื่นบัตรประชาชนใบเดียว

ขณะที่ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อนจะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม 

ทั้งนี้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สามารถให้บริการส่งตรวจระดับโปรตีนของโรคอัลไซเมอร์ในน้ำไขสันหลังได้ หากผู้ป่วยรายใดมีข้อบ่งชี้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการประเมินเบื้องต้นได้ที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข