ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่นอกจากจะเป็นต้นตอสำคัญของโรคทางเดินหายใจแล้ว ฝุ่นเจ้ากรรมนี้ยังอาจนำไปสู่โรคทางสมองอย่างเช่น “อัลไซเมอร์” ได้อีกด้วย

กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์อย่างการก่อสร้าง การคมนาคม และอุตสาหกรรม ได้ก่อให้เกิดฝุ่นควันที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งมีอนุภาคเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ และเมื่อสูดอนุภาคขนาดเล็กนี้เข้าไป มันจะถูกส่งผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจและตรงสู่สมองได้โดยตรง โดยที่เยื่อป้องกันที่ปกติจะคอยกรองฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไม่อาจจะป้องกันได้

นักวิจัยจาก University of Southern California ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Alzheimer's & Dementia: The Journal of the Alzheimer's Association อันว่าด้วยเรื่องของความเกี่ยวโยงระหว่าง PM2.5 ที่มนุษย์สูดเข้าไปในร่างกายสามารถนำไปสู่ภาวะสูญเสียความทรงจำและโรคอัลไซเมอร์ได้

โดยสองหัวหน้านักวิจัย “เซเลบ ฟินช์” และ “เจนนิเฟอร์ อัลไชน์” USC Leonard Davis School of Gerontology ได้ศึกษาถึงผลระยะยาวของ PM 2.5 ที่นำไปสู่การตายก่อนวัยอันควรของผู้ที่เป็นโรคหัวใจและปอดเรื้อรัง และมลภาวะในอากาศที่เกี่ยวข้องกับกับปัญหาทางการรับรู้ของผู้คน

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า จากข้อมูลสุขภาพที่สำรวจทั่วสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2004 ประชากรวัยตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไปที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่า 8 ปี เมื่อรับ PM 2.5 เข้าไปจะพบกับปัญหาทางสมอง ระบบการรับรู้จะแย่ลง และนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำและอัลไซเมอร์

จากนั้น 10 ปีต่อมา เมื่อกลับมาสำรวจอีกครั้งก็พบว่า เมื่ออากาศดีขึ้น PM 2.5 ลดลง ผู้คนพบเจอปัญหาทางสมองน้อยลงกว่าเดิม และผู้ที่เคยเกิดความเสียหายทางสมองและระบบการรับรู้ก็กลับมาฟื้นฟูดีขึ้นกว่าเดิม

นั่นทำให้ฟินช์และอัลไชน์พบข้อสรุปที่ว่า มลภาวะนั้นมีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อความเสียหายในสมองของมนุษย์ เพราะระบบการรับรู้ในสมองของผู้คนนั้นดีขึ้น สอดคล้องกับการลดลงของมลภาวะในอากาศที่ลดลงกว่า 25% จากเมื่อปี 2004 และกว่า 41% ระหว่างปี 2000 - 2020

อัลไชน์อธิบายว่า การที่สภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศนับเป็นความสำเร็จทั้งเชิงนโยบายสาธารณสุขและนโยบายสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ดีมันก็ยังคงมีสิ่งที่น่าวิตกกังวลอยู่บ้าง เพราะแม้อากาศจะดีขึ้นโดยเฉลี่ย 25% จากช่วงปี 2004 ที่พบกับปัญหา แต่ในเวลานี้มลภาวะในอากาศก็กลับมาแย่อีกครั้ง เช่นจากเรื่องของภัยธรรมชาติเช่นไฟป่า ซึ่งนั่นน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของเรื่องมลภาวะทางอากาศและสุขภาพที่ต้องกังวลอีกครั้งแน่นอน

หลังจากปี 2004 ทีมวิจัยได้ทำการทดลองอีกครั้งเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2009 โดยใช้สภาพอากาศของนครลอสแองเจิลลิสเป็นฐานในการเฝ้าสังเกตอาการของหนูทดลอง เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหา PM 2.5 เกี่ยวข้องกับความเสียหายในสมองอันนำไปสู่การเสียความทรงจำหรืออัลไซเมอร์จริงๆ หรือไม่

โดยหลังจากปี 2017เป็นต้นมา ที่มลภาวะอากาศอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย บรรดาหนูทดลองในห้องวิจัยให้ผลการทดลองว่า อาการภาวะเป็นพิษในระบบประสาท (Neurotoxicity) ของเหล่าหนูทั้งหลายดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ได้รับมลภาวะ PM 2.5 อันรวมไปถึงการลดลงของความเสียหายในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อด้วย และหนูบางส่วนที่เคยรับผลกระทบจาก PM 2.5 ก็มีอาการภาวะเป็นพิษในระบบประสาทน้อยลง

และด้วยผลการทดลองนี่เองที่ย้ำว่า “อากาศดี สมองก็ดีตามไปด้วย” จริงๆ แม้ว่าทั้งฟินช์และอัลไชน์จะย้ำว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่สามารถที่จะประเมิณผลดีผลเสียของมลภาวะในอากาศได้อย่างครอบคลุม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนแน่นอนคือ อากาศนั้นมีผลต่อสุขภาวะของผู้คนจริงๆ

ฟินช์ย้ำว่า “การค้นพบของพวกเราคือการแสดงให้เห็นว่าอากาศที่ดี ปลอดมลภาวะ มีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพของผู้คน ไม่ใช่เพียงแค่ลดภัยต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ยังลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดกับสมองด้วย”

สำหรับในประเทศไทย จากรายงานย้อนหลัง 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปี 2021 ประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีการปนเปื้อนของ PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเรื่อยมา โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ หรือเชียงใหม่

จากค่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลับมีช่วงที่การปนเปื้อนทะลุเกิน 90ลูกบาศก์เมตรอยู่มาก เช่นช่วงวันที่ 22 ม.ค. 2021 มีอัตรา PM 2.5 สูงถึง 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพมาก

โดยสาเหตุหลักๆ ก็เป็นเพราะมลพิษจากรถยนต์ การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง ไฟป่า หรือควันที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เป็นต้นมา มลภาวะจาก PM 2.5 ของเมืองไทยดูเหมือนจะลดน้อยลง และปัญหาสุขภาพที่คนไทยพบเจอยังคงไม่ไปไกลกว่าระบบทางเดินหายใจ แต่ภัยเงียบเช่นความเสียหายทางสมองและระบบรับรู้ จากการที่ผู้คนสูดดมฝุ่นเข้าไปก็ยังคงเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากังวล

อ้างอิง
http://iqair.com/th/thailand/Bangkok ​
https://www.jica.go.jp/jica-ri/publication/booksandreports/l75nbg00000kjwkk-att/Final_report.pdf
https://alz-journals.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/alz.12471
https://news.usc.edu/192884/clean-air-brain-health-alzheimers-pollution-usc-research/
https://www.senate.go.th/document/Ext24700/24700356_0003.PDF
http://air4thai.pcd.go.th/webV2/
https://thestandard.co/where-did-pm2-5-come-from/
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211007122123.htm