ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เรียกร้อง สธ. จัดตั้งหน่วยไตเทียมให้ครบทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน เหตุยังมีไม่ครอบคลุม แม้ผู้ป่วยจะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุน แต่ก็ยังมีช่องว่างให้เข้าไม่ถึงบริการ


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ให้ความครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยไตวาย ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง รวมถึงการปลูกถ่ายไต

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากค่าเบิกจ่ายจะพบว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลระบบบัตรทอง มีอัตราการจ่ายอยู่ที่ 1,500 บาท สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ที่ 1,500 บาท และกรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลสวัสดิการข้าราชการ จ่ายที่อัตรา 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังมีผู้ป่วยไตวายกลุ่มหนึ่งที่ต้องถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมและเผชิญกับปัญหาเข้าไม่ถึงบริการ นั่นคือผู้ป่วยไตวายที่มีโรคร่วมเอชไอวี (HIV) ที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยเหตุผลที่หน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟอกเลือดนั้นจะต้องใช้แล้วทิ้งทั้งหมด 

“แม้ผู้ป่วยจะมีสิทธิประโยชน์รองรับแต่ก็ยังพบปัญหาว่า หน่วยบริการส่วนใหญ่ไม่ให้บริการ เนื่องจากผู้ป่วยมีเชื้อเอชไอวี และในอดีตยังพบอีกว่า หน่วยที่ให้บริการฟอกเลือดกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีการเก็บค่าบริการเพิ่มครั้งละ 2,500 – 3,000 บาท โดยผู้ป่วยจะต้องฟอกเลือดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จึงต้องจ่ายเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 2 – 4.2 หมื่นบาท” นายธนพลธ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เครือข่ายผู้ป่วยใช้เวลาต่อสู้ราว 3 ปี ปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนได้ทยอยออกประกาศให้ใช้สิทธิฟอกไตในกรณีผู้ป่วยไตวายที่มีโรคร่วมเอชไอวีได้แล้ว โดยจะเบิกจ่ายให้ในอัตราครั้งละ 4,000 พันบาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดย สปสช.ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 กรมบัญชีกลาง ประกาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 และ สปส. ประกาศเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564

นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า แม้ทุกวันนี้ผู้ป่วยจะมีสิทธิในการรักษามากขึ้นแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบปัญหาที่ยังเป็นช่องว่าง นั่นคือหน่วยบริการสำหรับฟอกไตผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ได้กระจายตัวอย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบเรื่องการเดินทางไปหน่วยบริการ หรือในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายยังต้องเดินทางไปรักษายังหน่วยบริการที่อยู่นอกภูมิลำเนา และเกิดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินเพื่อรักษาตัว

ทั้งนี้ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย จึงมีข้อเสนอเพื่อขอให้ 3 กองทุนสุขภาพดำเนินการ โดยเสนอให้ สปสช. ประสานงานกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต สมาคมโรคเอดส์ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดำเนินการให้มีหน่วยไตเทียมที่ให้บริการ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีโรคติดเชื้อร่วมทุกราย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกทุกจังหวัด 

นอกจากนี้ ควรมีหน่วยไตเทียมที่พร้อมให้บริการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และควรมีแผนระยะยาวเพื่อจัดหาหน่วยบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

“นี่คือข้อเรียกร้องจากเครือข่ายผู้ป่วย และควรได้รับการแก้ไข้แบบเร่งด่วนในระยะเวลา 1 เดือน” นายธนพลธ์ กล่าว

อนึ่ง สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเพื่อส่งให้แก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 และได้ร่วมหารือกับ นพ.ธงชัย กีรติหัตรยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งปัญหา-ข้อเสนอว่าต้องขยายให้มีการเปิดหน่วยบริการสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในทุกพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 1-2 แห่ง อย่างเร่งด่วน