ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เผย ขณะนี้มี รพ.สต. 34 แห่ง จาก 72 แห่ง แสดงความประสงค์พร้อมถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. แต่ที่สุดแล้วต้องรอประเมินศักยภาพ อบจ.อีกครั้งว่าจะรับได้เท่าใด วอนรัฐเปิดช่องให้สามารถสรรหาบุคลากรเองได้


นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.กระบี่) และคณะทำงานถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง อบจ. ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จ.กระบี่ มี รพ.สต. ทั้งหมด 72 แห่ง ในจำนวนนี้ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะถ่ายโอนไปยัง อบจ. แล้ว 34 แห่ง แบ่งเป็น รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนบุคลากรทั้งหมด 26 แห่ง และถ่ายโอนบางส่วนอีก 8 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอต่อสภา อบจ.กระบี่ และจะเชิญผู้แทน รพ.สต.ที่ประสงค์จะถ่ายโอนเข้ามาหารือร่วมกัน เนื่องจากทาง อบจ.เอง ก็จะต้องประเมินศักยภาพโดยละเอียดว่าสามารถรับการถ่ายโอนได้จำนวนเท่าใด แต่เบื้องต้น นายก อบจ. ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะนำร่องในปี 2566 อำเภอละ 1 แห่ง 

ทั้งนี้ หากผลการประเมินสามารถรับได้ก็อาจจะรับถ่ายโอนทั้งหมดหรืออาจจะรับบางส่วนเฉพาะ รพ.สต.ที่มีบุคลากรพร้อมจะถ่ายโอนมายัง อบจ.ทั้งหมดก่อน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดบุคลากร เนื่องจากอำนาจในการสรรหาบุคลากรที่เป็นข้าราชการยังอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นถ้าหากรับโอน รพ.สต.ที่บุคลากรมาไม่ครบก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องขาดบุคลากร

นายกิตติชัย กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่าทั่วประเทศมี อบจ. ที่มีความประสงค์จะรับถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 42 จังหวัด ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการพูดคุย ซึ่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลัก จะเปิดรับแบบประเมินความประสงค์ของ อบจ. ที่จะส่งเข้ามาภายในวันที่ 15 พ.ย. 2564 นี้ และจะเป็นผู้อนุมัติว่า อบจ. แต่ละแห่งจะสามารถรับโอน รพ.สต. ได้กี่แห่ง

​อย่างไรก็ดี ขณะนี้สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งคณะทำงานการ การถ่ายโอน รพ.สต.สู่ อบจ. ของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) ได้ทยอยให้ความเข้าใจกับทั้งฝั่ง อบจ.และบุคลากรของ รพ.สต. ในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ตามประกาศที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยเฉพาะหลักการ “ภารกิจไป งบประมาณไป ตำแหน่งไป บุคลากรสมัครใจ” ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ซึ่งโดยภาพรวมแล้วนอกจากสถานะของบุคลากรหลังจากถ่ายโอนจะไม่ต่ำกว่าเดิมในทุกๆ ด้านแล้วการให้บริการสาธารณะกับประชาชนก็ต้องดีกว่าเดิมด้วย

“กรณีที่ รพ.สต. บางแห่งถ่ายโอนบุคลากรไม่หมด บุคลากรที่เหลือก็ยังอยู่ภายใน สธ.ต่อไปได้ เพราะทาง สธ.ก็จะมีการเกลี่ยตำแหน่งให้ลงไปในส่วนต่างๆ ส่วนกรณีที่ รพ.สต. ไม่ถ่ายโอนภารกิจ แต่บุคลากรมีความประสงค์ที่จะถ่ายโอนก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยทาง อบจ.ก็จะหาทางเกลี่ยตำแหน่งให้ต่อไป” นายกิตติชัย กล่าว

นายกิตติชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มมีแผนกระจายอำนาจฯ แผน 1 เมื่อปี 2543 ผ่านแผน 2 เมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบัน สามารถถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อปท. ได้เพียง 84 แห่ง จากทั้งหมด 9,787 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลวในการกระจายอำนาจเพราะการประเมินดำเนินการโดยทาง สธ.เลยไปติดกับดักกับคำว่า “ท้องถิ่นไม่พร้อม” ทำให้แผนการกระจายอำนาจ แผน 1 และแผน 2 กลายเป็นกระสุนด้านตลอดมา 

“ส่วนตัวคิดว่ารอบนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้กับท้องถิ่น โดย อบจ. จะสามารถเข้าไปดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น” นายกิตติชัย กล่าว

นายกิตติชัย กล่าวต่อไปว่า งานด้านสาธารณสุขเป็นงานที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต สุขภาพ ความเป็นความตายของประชาชน และ อบจ. ก็มีความใกล้ชิดกับประชาชน หากมี รพ.สต. เข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินการก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการด้วยนโยบายบริการสาธารณะต่างๆ เองได้ ซึ่งก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อ รพ.สต. ถ่ายโอนมาที่ อบจ. แล้ว สธ. ก็ยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยดูแล-ควบคุมคุณภาพการดำเนินการด้านสาธารณสุขอยู่ นั่นหมายความว่า อบจ. จะต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานที่ สธ. กำหนด ซึ่งก็คาดว่าน่าจะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาภายหลัง

“ไม่ได้หมายความว่าอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขแล้วไม่ดี แต่ในกระบวนการกระจายอำนาจ หลายสิ่งหลายอย่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องได้อย่างตรงประเด็น” นายกิตติชัย กล่าว

นายกิตติชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาหลายส่วน เช่น ความเข้าใจของบุคลากร หรือทาง อบจ. เองก็ยังมีปัญหาเรื่องการสรรหาบุคลากรเพราะยังไม่สามารถสรรหาเองได้ เนื่องจากอำนาจในการสรรหาอยู่ที่ส่วนกลาง ถ้าในกรณีที่บุคลากรขาดก็อาจจะเป็นปัญหาในการให้บริการประชาชน เพราะนานๆ ทางกรมส่งเสริมถึงจะเปิดสอบเพื่อบรรจุบุคลากรให้กับ อปท.สักครั้ง ดังจะเห็นได้จากบุคลากรทางด้านการศึกษา ซึ่งขณะนี้ อปท.ประสบปัญหาเหมือนกันทั่วประเทศ เพราะกรมส่งเสริมฯไม่สามารถสรรหาบุคลากรส่งไปให้กับ อปท.ได้

“สิ่งที่อยากจะเรียกร้อง คือหลังจากที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ อบจ.แล้ว ขอให้ทาง อบจ.สามารถสรรหาบุคลากรมาบรรจุในตำแหน่งที่ขาดเองได้ ซึ่งจะทำให้ อบจ.สามารถที่จะได้คนในท้องถิ่นนั้นมาทำงานในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะเข้าใจบริบทของชุมชนได้ดีกว่าที่ทางกรมส่งเสริมจัดสอบในส่วนกลางแล้วส่งคนมาให้เรียกตามลำดับคะแนน คนภาคเหนือไปอยู่ภาคอีสาน คนอีสานไปอยู่ภาคใต้ คนภาคใต้ไปอยู่ภาคกลาง ข้ามภาคข้ามจังหวัด ต้องห่างไกลครอบครัว มีภารค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่มีจิตใจที่จะมุ่งมั่นกับการทำงานเพราะนับวันถอยหลังเพื่อรอวันโอนย้ายกลับภูมิลำเนา พอย้ายไป อปท.นั้นก็จะคนขาดรอวันสรรหากันใหม่อีกเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้ซึ่งไม่ได้เกิดผลดีกับทั้ง อปท. ทั้งตัวบุคลากรเอง และที่สำคัญคือส่งผลต่อการดูแลพี่น้องประชาชน” นายกิตติชัย กล่าว