ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette) กลายมาเป็นประเด็นร้อน และเกิดข้อถกเถียงในสังคมขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลัง ชัยวุฒิ​ ธนาคมานุสรณ์”​ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอีเอส)​ ออกมาสนับสนุนผลักดันให้เรื่องนี้ “ถูกกฎหมาย”

หากย้อนกลับไปดูคำแนะนำจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ในอดีตเคยพูดถึงข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยในการ ลด ละ เลิก บุหรี่ ได้

ทว่า ในเวลานี้คำแนะนำดังกล่าว อาจต้องถูกทบทวนใหม่

จากงานรายงานโดยทีมวิจัยจาก Herbert Wertheim School of Public Health and Human Longevity Science at University of California San Diego ร่วมมือกับทีมวิจัยจาก UC San Diego Moores Cancer Center ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง

“ผู้ที่สลับจากบุหรี่มวนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนในชีวิตประจำวัน มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ หรือไม่ก็กลับไปสูบบุหรี่มวนอีกครั้งหนึ่ง” ตอนหนึ่งของงานวิจัยระบุ

“จอห์น พี. เพียช” หัวหน้าทีมวิจัยได้กล่าวว่า จากงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เลิกบุหรี่มวนแล้วหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือยาสูบทางเลือกอื่นๆ แทน มีแนวโน้มกลับไปสูบบุหรี่ตามเดิมมากกว่าผู้ที่เลิกขาดไปเลยถึง 8.5%

ฉะนั้น การเลิกสูบทั้งหมดทุกประเภทจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

“ความคิดที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นตัวช่วยให้เลิกได้นั้นอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะหลักฐานบ่งชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้” เขาย้ำ

“คาเรน เมสเซอร์” อีกหนึ่งในทีมวิจัยได้อธิยายว่า เป้าหมายของการศึกษาชิ้นนี้คือการประเมินว่า ระหว่างผู้ที่ใช้ยาสูบทางเลือก กับกลุ่มที่เลิกขาดไปเลย กลุ่มใดที่จะหันกลับมาสูบบุหรี่น้อยกว่ากัน

ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากเหล่าบรรดาสิงห์อมควันจำนวน 13,604 ราย ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2013 – 2015 โดยการตามติดพฤติกรรมและทำแบบสอบถามปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบความเป็นไปในการใช้ยาสูบประเภทต่างๆ เช่น บุหรี่จริง บุหรี่ไฟฟ้า ยาสูบแบบพื้นเมือง ฯลฯ รวม 12 ชนิด

การศึกษาในระยะแรก จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 100% มีอยู่ 9.4% ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 62.9% ที่ไม่กลับไปสูบบุหรี่หรือยาสูบใดๆ อีกเลย ส่วนอีก 37.1% หันไปใช้ยาสูบทางเลือกอื่นๆ แทน

ว่ากันเฉพาะผู้ที่หันไปสูบบุหรี่ทางเลือก พบว่ามี 22.8% เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้ที่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้น มีมากถึง 17.6% ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่จริงไปเลย แต่ไม่ได้ “เลิก” สูบ

บรรดาผู้ที่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ตามสถิติพบว่ามีรายได้สูง และก่อนหน้านี้มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่จัด โดยเขาเหล่านั้นมุมมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า

ในการสำรวจและติดตามพฤติกรรมระยะที่สอง พบว่า 8.5% ของผู้ที่หันไปใช้ยาสูบทางเลือกเช่นการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มในการกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้งมากกว่ากลุ่มที่เลิกขาดไปเลย

ซึ่งในบรรดาผู้ที่เลิกขาดได้นานถึง 12 เดือน มีกว่า 50% ที่จะเลิกบุหรี่ได้อย่างสมบูรณ์ สวนทางกับ 41.5% ของผู้ที่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่จะกลายเป็น “เสพติด” บุหรี่ไฟฟ้าแทน หรือกลับไปสูบบุหรี่จริงเหมือนเดิม

ที่น่าสนใจคือเหล่าบรรดาผู้ที่กลับไปติดบุหรี่อีกครั้ง มักจะมีความพยายามที่จะ “เลิกบุหรี่” อีกครั้งในช่วงระยะเวลา 3 เดือนหลังจากกลับไปสูบ และหลังจากนั้นก็จะกลับไปสูบอีก วงเวียนเหมือนมีอาการ “เรื้อรัง” ในการติดและเลิกไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องศึกษาต่อไปว่า พฤติกรรมแบบนี้จะนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าการเลิกบุหรี่ที่ยั่งยืนที่สุดคือการ “เลิกขาด” ไปเลย มากกว่าการที่จะใช้ยาสูบทางเลือกมาเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่

“เพียช” กล่าวอีกว่า นี่เป็นงานศึกษาชิ้นแรกที่มองลึกลงไปถึงผลของการใช้ยาสูบทางเลือกในระยะยาวว่าจะช่วยในการเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่ ถ้าการสลับไปใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้จริง สถิติของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกได้ขาดจะต้องดีกว่านี้

“แต่จากหลักฐานที่เราพบ ก็คงต้องบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริงๆ อย่างน้อยก็ในตอนนี้”

การสูบบุหรี่นั้นกำลังมีตัวเลขลดลงอย่างมาก เพราะสารที่อยู่ในบุหรี่ทั้งหลายแม้ว่าอาจจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง สร้างความตื่นตัว-สดชื่นให้กับผู้สูบแล้ว มันยังมีอันตรายสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นเดียวกัน ทั้งถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือแม้กระทั่งการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว บุหรี่ยังเป็นอีกต้นตอหนึ่งของปัญหามลภาวะจากควันของมันอีกด้วย

ในปี 2016 มีบุหรี่ถูกสูบรวมกันทั้งโลกไปกว่า 5.7 ล้านล้านมวน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนครองแชมป์ด้วยการสูบบุหรี่ไปทั้งสิ้น 2.4 ล้านล้านมวน คิดเป็น 2,043 มวนต่อประชากรหนึ่งคนในหนึ่งปีโดยเฉลี่ย

สำหรับในประเทศไทย ในปี 2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานออกมาว่า ประเทศไทยมีประชากรที่สูบบุหรี่อยู่ประมาณ 9.9 ล้านคน

ใน 9.9 ล้านคน มี 17.4% ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่น่าตกใจไปมากว่านั้นก็คือ มีเยาวชนที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน

เหตุผลหลักๆ ของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทยก็คือ การนำมาใช้ช่วยให้สามารถ ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ โดยเป็นการหาอะไรที่อันตรายน้อยกว่ามา “สูบ” ไปพลางๆ ก่อนที่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้จริงๆ ส่วนเหตุผลอื่นๆ ก็จะมีเช่นเป็นไปตามกระแส เป็นแฟชั่นของวัยรุ่น เป็นต้น

แต่ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น ก็คงต้องย้ำอีกครั้งจากงานศึกษาในเวลานี้ ไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายน้อยหรือมากกว่าบุหรี่จริงเพียงใด แนวโน้มของการเลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้าดูเหมือนจะไม่ได้ผล

ในเวลานี้ หากผู้ใดกำลังประสบปัญหาในการเลิกบุหรี่ ต้องการเลิกบุหรี่อย่างได้ผล ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม “สายเลิกบุหรี่ 1600” ได้พร้อมบริการประชาชน แนะนำให้คำปรึกษาถึงวิธีการและแนวทางการเลิกบุหรี่ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 23.00 น. หรือนอกจากทางโทรศัพท์ ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง Line: quitline1600 หรือทาง Facebook: สายเลิกบุหรี่ 1600

ทั้งหมดนี้ฟรีและไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสุขภาพของคนไทย

อ้างอิง
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=54
https://www.thaihealth.or.th/Content/55414-%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B5%202564%20.html
https://www.thaihealth.or.th/Content/54993-%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%201600.html#:~:text=%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%84,%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%20(%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%AA.)
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211019120109.htm
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2785237
https://ucsdnews.ucsd.edu/pressrelease/e-cigarettes-dont-help-smokers-quit
https://siamrath.co.th/n/196300
https://tobaccoatlas.org/topic/consumption/#:~:text=Sources,-Euromonitor%20International.%20%E2%80%9C&text=About%205.7%20trillion%20(5%2C700%2C000%2C000%2C000)%20cigarettes,tobacco%20control%20is%20still%20uncertain