ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน ทำให้หน่วยบริการแห่งนี้มีความน่าสนใจ ภายหลังผู้บริหารโรงพยาบาลตัดสินใจเสริมศักยภาพการให้บริการด้วยการนำ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” เข้ามาสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย

ในช่วงหลังมานี้ “Telemedicine” หรือโทรเวชกรรม-การแพทย์ทางไกล กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่การให้บริการทางการแพทย์ต้องเป็นไปบนข้อจำกัด “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เทคโนโลยี-นวัตกรรมการสื่อสารมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า “Telemedicine” ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่ “โรงพยาบาลวิมุต” นำมาใช้ เพื่อติดตามอาการ-ดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ

แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ “โรงพยาบาลวิมุต” ยังได้นำ ระบบดูแลผู้ป่วยเบาหวาน มาเสริมศักยภาพในการให้บริการ และเตรียมจะพัฒนาต่อยอดไปสู่การให้บริการผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย

นี่คือความน่าสนใจ ที่ทำให้ “The Coverage” ต้องต่อสายตรงถึง พญ.พิชชาพร ธนาพงศธร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต เพื่อขยายความเรื่องนี้อย่างลงลึก

พญ.พิชชาพร เล่าว่า แม้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงขาลง จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่าวันละ 2 หมื่นราย เหลือราววันละกว่า 1 หมื่นราย แต่ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยก็ยังมีความกังวลหากต้องเดินทางไปในสถานที่ที่มีความพลุกพล่าน รวมถึงโรงพยาบาลด้วย โรงพยาบาลวิมุตซึ่งเพิ่งเปิดบริการจึงได้วางแผนที่จะนำระบบ Telemedicine มาใช้ตั้งแต่ก่อนเปิดโรงพยาบาล จนถึงช่วงเดือน พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา 

ในต่างประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย การที่ผู้ป่วยจะไปพบแพทย์แบบตัวต่อตัวเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้น Telemedicine จึงเป็นเครื่องมือปกติที่เขาใช้ แต่ในประเทศไทยนั้นการไปพบแพทย์ง่ายกว่า และวัฒนธรรมของเราคือชอบเจอแพทย์ ให้แพทย์สัมผัสตัว เราจึงอาจยังไม่ชินกับ Telemedicine แต่ในอนาคต เทรนด์การใช้ Telemedicine จะมาแน่นอน และนี่เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลของเราเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนที่โรงพยาบาลจะเปิด” พญ.พิชชาพร อธิบาย

อย่างไรก็ ตาม ถือเป็นจังหวะดีที่โรงพยาบาลวิมุตเปิดให้บริการในช่วงที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 โรงพยาบาลจึงได้ทดสอบระบบ Telemedicine ด้วยการให้บริการ “เช็กก่อนฉีด”  ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาโดยแพทย์ฟรี เพื่อคลายความกังวลก่อนฉีด วัคซีนโควิด-19 

สำหรับ Telemedicine ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดี แม้ว่าอาจไม่เทียบเท่ากับการพบแพทย์แบบตัวต่อตัว แต่ผู้ป่วยก็จะได้รับคำแนะนำว่าต้องทำอะไร ซึ่งจะช่วยให้เขาคลายกังวลลงไปมาก

Telemedicine จึงเข้ามามีบทบาทและเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับโรงพยาบาลวิมุต ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย

“เราได้ใช้ Telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งต้องระมัดระวังตัวที่สุดและต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรคไตด้วย โดยช่วงแรกเราได้ประยุกต์ Telemedicine เข้ากับโครงการจัดส่งยาถึงบ้าน ซึ่งทำให้เห็นว่าค่อนข้างตอบโจทย์ คือมีแพทย์ มียา และลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วย

พญ.พิชชาพร กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ เกิด ใหม่ต้องตามให้ทัน และต้องก้าวให้นำด้วย โดยโควิดเป็นตัว Disrupt เร่งให้อะไรหลายๆ อย่างเกิดเร็วขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวในตอนต้น นอกเหนือจากการใช้ Telemedicine แล้ว โรงพยาบาลวิมุต ยังได้นำ “ระบบดูแลผู้ป่วยเบาหวาน” เข้ามาใช้ด้วย

ว่าแต่ ... ระบบดังกล่าวเป็นอย่างไร !!?

พญ.พิชชาพร อธิบายว่า โรงพยาบาลวิมุต มีโรงพยาบาลในเครือ คือโรงพยาบาลเทพธารินทร์ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านเบาหวาน โดยโรงพยาบาลวิมุต เองก็มีความพยายามที่จะดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้ครบวงจรเช่นกัน ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ใช่แค่การมาถึงแล้วจ่ายยา แล้วรอนัดอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ต้องเป็นการให้การดูแลรวมถึงเป็นโค้ชให้กับผู้ป่วย ทั้งการให้คำแนะนำ วิธีการปฏิบัติตัว อาหาร และการออกกำลังกาย เป็นต้น

“ไม่ใช่แค่พบแพทย์ แต่จะต้องพบนัก กำหนดอาหารด้วย จะมีการแนะนำอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานแล้วจะมีสุขภาพดีขึ้น ไม่ใช่แค่ว่าป่วยแล้วต้องทานรับประทานอะไร เราต้องตรวจให้ครบวงจร ฉะนั้นเราต้องหาเครื่องมือเพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น พญ.พิชชาพร ระบุ 

สำหรับปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานหลักๆ ไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารอะไร หรือจะเป็นแผลตอนไหนไม่มีใครรู้ การให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีตัวเชื่อมเพื่อให้ผู้ป่วยและโรงพยาบาลสามารถเชื่อมต่อกันได้ 

สำหรับระบบติดตามผู้ป่วยเบาหวานที่โรงพยาบาลวิมุตใช้นั้น พัฒนาขึ้นโดยยบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด ชื่อว่า Dietz NCDs Telemonitoring  www.dietz.asia โดย ไดเอทซ์แจ้งว่าเป็นระบบ NCDs Telemonitoring เจ้าแรกๆ และมีโรงพยาบาลใช้งานมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยดูแลผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้มีความเสี่ยงเบาหวาน เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ให้ได้รับการดูแลได้ดีขึ้นและใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผสานกับสหวิชาชีพ เช่น พยาบาล นักกำหนดอาหาร  เภสัชกร

ผู้ใช้งานสามารถบันทึกผลสุขภาพผ่านแอปพลิเคชันโรงพยาบาลวิมุตได้ในแต่ละวัน เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต อาหารที่รับประทาน ฯลฯ โดยบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อติดตามการรักษา และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองได้แม้จะอยู่ที่บ้าน

“มากไปกว่านั้นยังสามารถบันทึกข้อมูลยาที่ผู้ป่วยรับประทานได้อีกด้วย ถ้าเคยเห็นยาผู้ป่วยเบาหวาน จะเหมือนถุงที่มีขนมอยู่ปริมาณมาก เราก็จะมีการบันทึกว่าผู้ป่วยได้ยาอะไรบ้าง ในกรณีที่เขาเจ็บป่วยที่อื่น เมื่อเปิดแอปพลิเคชันนี้ แพทย์ที่มาเจอก็จะรู้ว่าผู้ป่วยกำลังทานยาตัวไหน และต้องระมัดระวังอะไรบ้าง พญ.พิชชาพร อธิบายเพิ่ม

พญ.พิชชาพร บอกอีกว่า การที่โรงพยาบาลสามารถเชื่อมต่อกับผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้ความหลากหลายของข้อมูลที่จะนำไปปรับใช้กับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วย ถึงแม้โรงพยาบาลวิมุต จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่เรื่องเงินหรือผลกำไรไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ยืนยันว่าโรงพยาบาลอยากให้การรักษาที่ดีกับผู้ป่วยให้มากที่สุดเช่นกัน

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดบุคลากรมากขึ้น เพราะรับรู้ข้อมูลผู้ป่วยอยู่แล้ว ทำให้มีเวลาในการปรับปรุง หรือดูแลในส่วนที่จำเป็นให้ดีขึ้น

เราจะมีคอนเซปต์ว่าเราจะไฮเทคอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่ได้อยากคุยกับหุ่นยนต์ แต่เราจะไฮเทคเพื่อนำเวลาที่เหลือไปดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดพญ.พิชชาพร ระบุ

ในอนาคตกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะต้องดูแล “พญ.พิชชาพร” เล่าว่า โรงพยาบาลวิมุต ตั้งใจที่จะดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังจะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ดังนั้นจึงเตรียมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยติดตามชีวิตประจำวันของผู้ป่วยให้ได้มากขึ้นและดีขึ้น

โรงพยาบาลวิมุตฯ เป็นโรงพยาบาลเกิดใหม่ และเราคิดว่าเราจะไม่เดินคนเดียว เมื่อเราเกิดมาทีหลังสิ่งที่เรามองหาคือพาร์ทเนอร์ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน ซึ่ง dietz เองก็ถือเป็นพาร์ทเนอร์ที่ซัพพอร์ตเรามาตลอด

เราเองก็ยังไม่หยุดเท่านี้ เรายังต้องพัฒนายังต่อเนื่อง แต่ก็คงไม่ได้พัฒนาเองทั้งหมด เรายินดีหากจะมีพาร์ทเนอร์ที่เห็นความสำคัญของ Healthcare หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาใช้ในการดูแลสุขภาพ เราก็เปิดรับทั้งหมดเพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้ป่วย เพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยของวิมุตให้ดีที่สุดพญ.พิชชาพร ระบุ

ทางด้าน นพ.ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล แพทย์ผู้ชำนาญการต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน เล่าว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยที่เพิ่มสูงมากขึ้น และผู้ป่วยเองมีความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด ทำให้ไม่กล้าเดินทางมาโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์ก็ต้องเว้นระยห่าง ทำให้มีการเลื่อนนัดผู้ป่วยออกไปให้ห่างขึ้น และตรวจผู้ป่วยได้น้อยลง

โรงพยาบาลจึงได้นำ Telemedicine เข้ามาสนับสนุน โดยทีมแพทย์จะมีคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่บ้านให้ผู้ป่วย เช่น การสังเกตอาการว่ากรณีใดที่จำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล รวมไปถึงการใช้ยา และการรับประทานอาหาร

นอกจากนี้ ทีมแพทย์จะทำการติดตามอาการผู้ป่วยด้วย “ระบบติดตามผู้ป่วยเบาหวาน” ผ่านแอปฯ ที่เชื่อมต่อโดยตรงกับโทรศัพท์มือถือของผู้ป่วย ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้การติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยดีขึ้น และยังเป็นเครื่องมือที่สามารถติดตามอาการของผู้ป่วยได้เป็นระยะ ก่อนเดินทางมาที่โรงพยาบาลตามนัดได้อีกด้วย 

สำหรับศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ของโรงพยาบาลวิมุต ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลราว 150-200 ต่อเดือน และมีผู้ป่วยที่ใช้ระบบติดตาม-ดูแลเบาหวานอยู่ที่ 10-20 ราย  ผู้ป่วยสามารถกรอกประวัติ-ประจำตัว แพทย์และพยาบาลจะเห็นประวัติ-ข้อมูลผู้ป่วยได้ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการรักษามากขึ้น เช่น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นความเสี่ยง หรืออาจจะยังปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ในส่วนนี้ก็จะช่วยกันปรับให้พฤติกรรม หรือระดับน้ำตาลของผู้ป่วยให้ดีขึ้น รวมไปถึงยังสามารถปรึกษานักกำหนดอาหาร ได้อีกด้วย

“ระบบตรงนี้จะช่วยให้เราสามารถเฝ้าสังเกต ระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงเข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น หากผู้ป่วยรู้สึกผิดปกติก็สามารถส่งข้อความมาหาทีมแพทย์ได้ หรือติดต่อโรงพยาบาลผ่านแอปพลิเคชันได้” นพ.ชาญวัฒน์ กล่าว

นพ.ชาญวัฒน์ ขยายความต่อไปว่า การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง แต่กลายเป็นดีขึ้น เพราะแพทย์รู้ข้อมูลของผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้เห็นว่าในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่บ้าน รับประทานอาหารอะไรบ้าง ค่าน้ำตาลเป็นอย่างไร ใช้ยาต่อเนื่องสม่ำเสมอหรือไม่

ขณะเดียวกัน การใช้แอปฯ หรือเทคโนโลยีก็ไม่ได้ทำให้ทีมแพทย์ หรือพยาบาลทำงานหนักขึ้น แต่เป็นการอำนวยความสะดวกมากกว่าเดิม ในแง่การติดตามผู้ป่วย หรือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วยมากขึ้น

“สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วย จะสามารถช่วยส่งเสริม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยให้ ดียิ่งขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้บ่อยๆ หรือไม่สะดวกที่ จะ มา แม้ว่าจะไม่มีโควิด-19 ก็ตาม เพียงแต่ว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เร็วขึ้น” นพ.ชาญวัฒน์ กล่าว