ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่พบการระบาดของโควิด-19 นอกประเทศจีน และยังได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการระบาดของ “สายพันธุ์เดลต้า” ที่ปั่นป่วนระบบสาธารณสุขจนทำให้เตียงเต็ม โรงพยาบาลล้นกันมาแล้ว

นั่นทำให้ประเทศไทยมีระบบรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation : HI) และระบบรักษาตัวในชุมชน (Community isolation : CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มอาการสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการผ่องถ่ายผู้ป่วยออกโรงพยาบาลและเหลือพื้นที่ให้กับผู้ป่วยที่อาการหนักแทน

ขณะเดียวกันการเปิดระบบ HI-CI ขึ้นมาในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ติดตามอาการผู้ป่วย ที่ทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องปรับตัวเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“The Coverage” ได้รับโอกาสจาก นพ.ดิเรก ดีศิริ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พญ.กุลรดา อินทวงศ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลพิจิตร และพญ. ศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพนครสวรรค์ สังกัดกรมอนามัย (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) ร่วมถอดบทเรียนการรับมือการระบาดในระลอกที่ผ่านมา ถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดูแลผู้ป่วยระหว่างการรักษา รวมไปถึงแนวทางการตั้งรับผู้ป่วยระลอกใหม่อีกด้วย

“เคลมง่ายด้วยระบบอัตโนมัติจัดข้อมูลกลุ่มผู้ป่วย

นพ.ดิเรก เล่าว่า สำหรับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อำเภอเมืองนนทบุรี และตำบลใกล้เคียงที่ติดกับพื้นที่เขตอำเภอเมือง รวมไปถึงศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลนนทบุรีด้วย

อย่างไรก็ดี หากประชาชนตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) แล้วพบว่าผลเป็นบวก รวมไปถึงเข้าเกณฑ์การรักษาผ่านระบบรักษาตัวเองที่บ้าน (Home isolation : HI) เช่น อายุไม่เกิน 75 ปี สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคร่วม บ้านมีห้องแยกกักตัวเฉพาะ สมาชิกในบ้านไม่มีผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง-เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นต้น โรงพยาบาลก็จะรับผู้ป่วยเข้ารักษาในระบบ HI

“การรับเข้าก็จะมีบุคลากรสาธารณสุขประจำ รพ.สต. หรือ อสม. จะเป็นผู้แนะนำผู้ป่วย และประเมินการเข้าเกณฑ์ของผู้ป่วย พร้อมกับนำ QR-code ให้ผู้ป่วยสแกน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีโอกาสได้ใช้บริการบริษัทที่ทำระบบดูแลผู้ป่วย HI โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” นพ.ดิเรก ระบุ

ระบบดังกล่าวนั่นก็คือ Dietz covid tracker telemedicine ที่พัฒนาโดย www.dietz.asia ช่วยให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวด้วยระบบ HI  ระบบรักษาตัวในชุมชน (Community isolation : CI) Hospitel รวมไปถึง โรงพยาบาลสนาม ได้เข้าถึงแพทย์โดยพูดคุย ผ่านการวิดีโอคอลได้แบบออนไลน์

นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเชื่อมข้อมูลจากผู้ป่วยผ่านการลงทะเบียนเข้าระบบได้อัตโนมัติ และช่วยให้โรงพยาบาลบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละวัน เช่น ระดับออกซิเจนในเลือด หรือ อุณหภูมิ อาการต่างๆ เข้าสู่ระบบ และเชื่อมกลับไปยังโรงพยาบาลเพื่อประกอบกับเอกสารเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม UCEP และประกันสุขภาพเอกชน

นพ.ดิเรก อธิบายว่า โรงพยาบาลยังติดปัญหากับระบบ IT บางประการ เพราะระบบของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ายังใช้ระบบ SSB ซึ่งยังไม่สามารถเชื่อมระหว่างโปรแกรมและระบบ E-claim ของ สปสช. ได้ ทำให้การดึงข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายยังต้องให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพเป็นคนจัดการ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่ยังสามารถรับมือได้

“ระบบช่วยให้ข้อมูลผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน เจ้าหน้าที่ก็สามารถดึงข้อมูลได้ที่เดียวกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา Authen code ได้เกือบ 100% เงินที่เบิกจ่ายก็ราบรื่นพอสมควร ในอนาคตถ้าสามารถเชื่อมข้อมูล SSB และ สปสช. โดยผ่านโปรแกรมได้ ตรงนี้ก็อาจจะช่วยให้สะดวกขึ้น และไม่ต้องใช้กำลังคนมาคีย์ข้อมูล” นพ.ดิเรก ระบุ

“CI” เปรียบเสมือนวอร์ดดูแลผู้ป่วย 24 ชม.

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเปิดระบบ HI เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดยในช่วงนั้นมีผู้ป่วยในระบบราว 580 ราย ตามปกติแล้วจะมีพยาบาล-แพทย์คอยติดตามอาการผู้ป่วยอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้บางรายที่อาการไม่น่าไว้วางใจ ก็จะให้ผู้ป่วยส่งข้อมูล เช่น ค่าออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิวันละ 2 ครั้งเพื่อเป็นการติดตามอาการ หากพยาบาลที่คอยมอนิเตอร์พบว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงก็จะแจ้งแพทย์เพื่อให้รีบรักษา-จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะส่งไปอยู่ใน CI หรือส่งแอดมิทในโรงพยาบาล โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็จะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค  

สำหรับสาเหตุที่ต้องส่งผู้ป่วยที่อาการแย่ลงไปยังระบบ CI นั้น เนื่องจากเปรียบเสมือนเป็นวอร์ดผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีพยาบาลอยู่เวรดูแลความเคลื่อนไหวของผู้ป่วยทุกเตียงตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยมีการหนัก ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95% ก็จะถูกแอดมิทที่โรงพยาบาลทันที

สำหรับในปีที่ผ่านมานโยบายแนวทางการบริหารจัดการเตียงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) กำหนดให้มีการจัดการเตียงในภาพรวมของทั้งหวัดนนทบุรี โดยโรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลจังหวัดจะรับเฉพาะเคสผู้ป่วยสีแดงเป็นส่วนใหญ่ และดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ

นั่นทำให้เตียงในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ารับเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดงอย่างเดียว

ขณะเดียวกันก็ให้โรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนตั้งรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลือง คล้ายกับการนำเตียงทั้งจังหวัดมารวมกัน และมีการส่งต่อกันเป็นทอดๆ

นพ.ดิเรก อธิบายเสริมว่า สำหรับในปีนี้ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเน้นไปที่การรักษาตัวที่บ้าน-ชุมชนเป็นหลัก ซึ่งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าก็จะเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ HI-CI และทำการแปลงสภาพโรงพยาบาลสนามให้เป็น CI แทน

เมื่อเทคโนโลยีช่วยทุ่นแรงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนาม

พญ.กุลรดา เล่าว่า จังหวัดพิจิตรจะมีโรงพยาบาลสนาม 1 แห่งในแต่ละอำเภอ ซึ่งในช่วงที่การระบาดถึงจุดพีกก็ทำให้ต้องมีการส่งผู้ป่วยกระจายไปยังโรงพยาบาลสนามต่างอำเภอ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป็นผู้ป่วยวอร์กอิน หากศักยภาพของโรงพยาบาลในแต่ละอำเภอสามารถรับได้และอาการไม่หนัก อำเภอต่างๆ ก็จะดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ด้วยตนเอง

“ในช่วงแรกๆ ก็มีการรับ refer in จนเต็ม แต่เมื่อไม่ไหวจริงๆ ในแต่ละอำเภอก็ตั้งโรงพยาบาลสนามของตัวเองขึ้นมา” พญ.กุลรดา ระบุ

ทำให้โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลพิจิตรเปิดขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมเมื่อปีที่ผ่านมาและดูแลผู้ป่วยสูงสุด 200 ราย ในช่วงพีกของการแพร่ระบาด

สำหรับโรงพยาบาลพิจิตรนั้นไม่ได้ทำระบบรักษาตัวเองที่บ้าน แต่จะใช้เป็นโรงพยาบาลสนามในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว นั่นก็คือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ-อาการน้อย ซึ่งในขณะนั้นทางโรงพยาบาลก็ได้พื้นที่โรงยิมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร (อบจ.) เปิดใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม

การดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลพิจิตรนั้นก็ได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งระบบที่ว่านั่นก็คือ Dietz covid tracker โดยผู้ป่วยจะเป็นผู้ลงข้อมูล เช่น สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจนในเลือด อาการ ด้วยตนเอง เพื่อให้แพทย์-พยาบาล-เจ้าหน้าที่แอดมินดูข้อมูลผู้ป่วยผ่านหน้าจอมอนิเตอร์สามารถติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ผู้ป่วยกรอกลงไปนั้น ก็จะแสดงขึ้นมาเป็น Dashboard ทันที และตัวระบบเองก็จะแสดงค่าต่างๆ ของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

“ตัวแอพฯ ก็จะมีการไฮไลท์สิ่งที่ผิดปกติ อย่างเช่นค่าออกซิเจนที่ต่ำผิดปกติ รวมไปถึงอุณหภูมิของผู้ป่วย ทำให้สามารถเลือกผู้ป่วยที่ต้องนำมาสัมภาษณ์ต่อ เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดได้ทุกคนอย่างรวดเร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยกรอกสัญญาณชีพลงแอพฯ” พญ.กุลรดา ระบุ

ตั้งหัวหน้าหมู่บ้าน ใช้ระบบผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย

พญ.กุลรดา อธิบายว่า แม้จะมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่คุ้นชินกับการใช้สมาร์ทโฟน แต่ด้วยความที่เป็นรูปแบบของโรงพยาบาลสนามรวม ทำให้มีการจัดตั้งทีมดูแลผู้ป่วยด้วยกันเองขึ้นมา โดยจะมีการตั้งหัวหน้าหมู่บ้านในแต่ละโซนคอยช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้

“ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็จะมีผู้ป่วยเตียงข้างที่เมื่อวัดของตัวเองเสร็จก็จะใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองกรอกให้ ด้วย password-username ของผู้ป่วยแต่ละราย

จริงๆ ก็เป็นโมเดลของโรงพยาบาลสนามใหญ่เกือบทุกแห่ง ที่จะมีผู้ป่วยเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่การช่วยวัดสัญญาณชีพ รายงาน กรอกข้อมูล หรือแม้แต่การนำข้าวที่ได้จากจุดแจก มาแบ่งให้ผู้ป่วยรายอื่น หรือคอยสื่อสารเพื่อช่วยเหลือคนในทีม” พญ.กุลรดา ระบุ

จากการแบ่งทีมผู้ป่วยดูแลผู้ป่วยด้วยกันเองนั้น ส่งผลให้งานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามลดลงด้วย แทนที่พยาบาลจะลงไปวัดสัญญาณชีพให้ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง แต่ในบางรายที่ไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้จริงๆ พยาบาลก็จะโทรไปตรวจสอบเป็นรายบุคคล ซึ่งตัวระบบก็ถูกพัฒนาให้แอดมินสามารถลงข้อมูลของผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน

ระบบจับอาการผู้ป่วยได้เร็วขึ้น-เตรียมเปิด HI รับมือโอมิครอน

พญ.กุลรดา อธิบายว่า ระบบที่โรงพยาบาลสนามใช้ดูแลผู้ป่วยนั้นถูกพัฒนาขึ้นให้ผู้ป่วยสามารถระบุรายละเอียดอาการได้มากขึ้น เช่น หากผู้ป่วยมีอาการไอก็สามารถอธิบายเพื่อให้พยาบาลทราบได้ว่าไอมากหรือน้อยกว่าเดิมอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่ตอบได้แค่ใช่หรือไม่เท่านั้น

“โปรแกรมทำให้ตรวจจับกลุ่มผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น จากการที่ต้องดูทีละชาร์จ-แฟ้มของผู้ป่วย ตรงนี้ก็จะขึ้นโชว์เป็น Dashboard real time ให้เห็นภาพรวม สามารถสรุปยอดรายวันได้” พญ.กุลรดา ระบุ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้เทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะระบบสามารถทำให้เห็น-รับทราบ-ติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถที่จะแก้ไขได้ทันที นั่นทำให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามถูกส่งกลับมารักษาด้วยอาการที่แย่ลงไม่ถึง 5% ของผู้ป่วยทั้งหมด

มากไปกว่านั้นยังเป็นการช่วยประหยัดเวลาและลดการใช้แรงของบุคลากรในโรงพยาบาลสนามอีกด้วย โดย พญ.กุลรดา บอกว่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหรือผู้ป่วย

พญ.กุลรดา อธิบายว่า ขณะนี้โรงพยาบาลพิจิตรก็ได้มีการประชุมทีมร่วมกันกับ รพ.สต. ทั้งหมดในเขตเมืองถึงการรับมือการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจะมีการเพิ่มการดูแลผู้ป่วย HI ขึ้นมา

 รวมไปถึงพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เป็นกำลังหลักในการมอนิเตอร์ผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งคาดว่าระบบที่จะเข้ามาใช้ดูแลผู้ป่วย HI จะเป็นตัวเดียวกันกับที่ใช้ในโรงพยาบาลสนาม

“หากอิงจากการระบาดรอบที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าระบบสามารถรับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 ราย” พญ.กุลรดา ระบุ

ระบุเกณฑ์รับผู้ป่วยชัดเจน ผู้ต้องพร้อมรับการรักษาตนเองที่บ้าน

พญ.ศรินนา อธิบายว่า การดำเนินการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ HI สำหรับการระบาดระลอกที่แล้ว หัวใจสำคัญคือมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นผู้ป่วยที่ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) รับเข้ามาดูแลนั้น เกณฑ์การดูแล และข้อบ่งชี้ เป็นตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์แล้ว ผู้ติดเชื้อที่รับบริการแบบ HI นั้น จำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีเป็น เล่นไลน์ได้ โทรศัพท์มีสัญญาณ เป็นต้น เพราะการรักษาผู้ป่วยผ่านระบบ HI จะมีการติดตามอาการโดยแพทย์-พยาบาล ทางไกลผ่านจอ หากผู้ป่วยรายใดที่ไม่พร้อมก็จะถูกส่งต่อไปยังระบบการรักษารูปแบบอื่น เพื่อให้บุคลากรทางแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด

สำหรับระบบดูแลผู้ป่วย HI โรงพยาบาลกับรับโอกาสจากบริษัทเอกชนที่ให้ดูแลเรื่องระบบการติดตาม-ดูแลผู้ป่วย มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Telemedicine เข้ามาช่วย ทั้งการบันทึกข้อมูล-อาการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งโปรแกรมที่โรงพยาบาลนำมาใช้เป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างสำเร็จรูป และเป็นโปรแกรมที่ผ่านการเรียนรู้-พัฒนามาแล้ว ทำให้การใช้งานไม่ได้เกิดปัญหาติดขัด

“เรื่องการลงข้อมูลระหว่างการดูแลนั้น คนไข้ก็จะต้องลงข้อมูลเอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ ใช้ในการพิจารณาการรักษา และ ใช้เป็นเวชระเบียนผู้ป่วย ทางบริษัทก็เตรียม ระบบมารองรับ ดังนั้นสำหรับการเริ่มต้น การให้บริการแบบ HI นั้น เราจึงใช้เวลาไม่นาน และ ทำให้เราได้ทำ Telehealth ได้ภายในช่วงเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งทีมผู้พัฒนาก็ช่วยสนับสนุนการแก้ไข เพราะทีมของเราไม่ได้มีผู้ที่เป็นโปรแกรมเมอร์ที่จะดำเนินการได้” พญ.ศรินนา ระบุ

ช่วยกำจัดขยะติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน

อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ HI นั่นก็คือ ชุมชนหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบต้องมีความเข้าใจ เพราะในช่วงนั้นประชาชนอาจจะยังเกิดความกังวลเรื่องของการแพร่เชื้อ นั่นทำให้โรงพยาบาลแม่และเด็กนครสวรรค์มีนโยบาย “เก็บขยะติดเชื้อ” จากบ้านของผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลทำเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนว่าการดูแลผู้ป่วยที่บ้านนั้นจะไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

“ส่วนหนึ่งเราถือวิชาการที่กรมฯ ให้ข้อปฏิบัติในการดูแล เรายิ่งต้องทำให้เป็นต้นแบบ ในเมื่อประชาชนไม่รู้ เราก็จำเป็นต้องแนะนำให้เขารู้ เหมือนกับว่าเรามีมาตรการหรือมาตรฐานที่จะบอกให้คนอื่นทำ ฉะนั้นเราก็ต้องทำให้ได้ก่อน เราก็เลยยึดตรงนี้เอาไว้เป็นหลักให้เป็นไปตามมาตรการ” พญ.ศรินนา ระบุ

พญ.ศรินนา อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบที่แล้วไม่ค่อยเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในระบบ HI เนื่องจากผู้ป่วยรู้จักระบบในระดับหนึ่ง รวมไปถึงมีการหาข้อมูลและเลือกที่จะรักษาตัวเองด้วยระบบนี้ โดยที่เจ้าหน้าที่จะต้องลงไปประเมินก่อนว่าสภาพบ้าน-ชุมชนนั้นพร้อมหรือไม่

ทว่าปัญหาที่พบนั้นเกิดขึ้นกับชุมชนเป็นส่วนใหญ่ เพราะเกิดความตื่นตระหนกและกลัวว่าเชื้อจะแพร่กระจาย นั่นทำให้โรงพยาบาลคิดวิธีนี้ขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นไม่บริษัทไม่กี่แห่งที่มีบริการกำจัดขยะติดเชื้อทั่วประเทศ

“การเก็บขยะติดเชื้อเป็นสิ่งที่เราทำเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่อยู่รอบข้างและชุมชนว่าการดูแลคนไข้ที่บ้านไม่ได้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ เราเพิ่มอุปกรณ์ในการคัดแยกขยะติดเชื้อให้ อีก 1 กล่อง นอกจาก กล่องอาสาพารอดที่มีอุปกรณ์ในการดูแลตนเอง และจะกำหนดวันรับเก็บขยะติดเชื้อ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง” พญ.ศรินนา ระบุ

แบ่งทีมเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย-เตรียมปรับพื้นที่โรงพยาบาลรับมือโอมิครอน

พญ.ศรินนา เล่าว่า ในช่วงการระบาดระลอกที่แล้ว ระบบ HI ของโรงพยาบาลในขณะนั้นดูแลผู้ป่วยถึง 80 รายในช่วงเดือนกันยายนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีการแบ่งทีมบุคลากรออกเป็น 4 ทีม ได้แก่ 1. ทีมรับผู้ป่วย (Call) คอยรับ-ดูอาการ-ประเมินสถานที่ 2. ทีมดูแลเข้าระบบ (Care) จะประกอบไปด้วยทีมแพทย์-พยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยในระบบ 3.ทีมขนส่ง (Logistic) ส่งอาหาร-ยา-รับ-ส่งผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการเปลี่ยนแปลง 4. ทีมสื่อสาร-ชุมชน (Community & Communication) ที่จะคอยลงติดตามในชุมชนพร้อมกับเครือข่าย

นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีบริการเอกซเรย์ปอดและ Swab เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR โดยเฉพาะเคสผู้ป่วยใหม่ ซึ่งการเอกซเรย์ปอดจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพราะถ้าผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดเพื่อรักษาต่อได้ โดยมีข้อมูลผู้ป่วยพร้อม ส่วนนี้ก็จะทำให้การสื่อสารง่ายขึ้นและเสียเวลาน้อยลง

อย่างไรก็ดี สำหรับการเตรียมรับมือการระบาดในระลอกนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ห้องพิเศษให้เป็นห้องแยก และปรับวอร์ดทั่วไปให้กลายเป็นหอผู้ป่วยแยกโรค หรือ cohort ward เพื่อรองรับผู้ป่วยในกรณีที่เป็นครอบครัวและมีอาการไม่รุนแรง แต่ยังคงระบบ HI เอาไว้ซึ่งศักยภาพในขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ราว 100 ราย

“จริงๆ แล้ว HI เป็นอีกทางเลือกที่เป็นอีกส่วนหนึ่งเอาไว้รองรับกรณีที่ระบบโรงพยาบาล สถานพยาบาลแออัด และก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิดสามารถได้รับการดูแลในโรงพยาบาลได้” พญ.ศรินนา ระบุ

“เบิกจ่ายอัตโนมัติผ่าน E-claim” ความหวังใหม่ของสถานพยาบาล

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร CEO and Co-founder, Dietz.asia กล่าวว่า สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 รอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทำให้เกิดบริการการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation ที่หน่วยบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช.ได้ โดยสถิติจาก สปสช. จากการเมื่อประชุมวันที่ 7 มกราคม 2565 ระบุว่า มีจำนวนผู้ป่วย Home Isolation ในช่วง กรกฎาคม-ธันวาคม 2564 จำนวน 258,017 ราย

เมื่อหน่วยบริการออก Authen และให้การรักษาแล้วจะต้องรวบรวมข้อมูลมาคีย์ลงระบบ E-claim ของ สปสช. เพื่อขอรับค่าใช้จ่ายซึ่งประสบปัญหาจำนวนข้อมูล รวมถึงหลักฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาการชะลอจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเป็นจำนวนมาก สปสช.เองก็ต้องจัดเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ตรวจสอบคนไข้รายบุคคลทำให้เกิดความล่าช้าและอาจติดขัดเรื่องประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ทางผู้ประกอบการแพลทฟอร์ม ผู้พัฒนาระบบ Home Isolation เอกชน จึงได้รวมตัวกันเสนอเชื่อมโยงข้อมูลการเบิกจ่ายจากแพลทฟอร์มต่างๆ โดยอาศัย DGA RC ของสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลในฐานะหน่วยงานหลักด้านรัฐบาลดิจิทัล เป็นช่องทางเชื่อมโยงไปยัง สปสช. อีกหนึ่งครั้ง โดยพยายามผลักดันตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่มีแพลทฟอร์ม Home Isolation ใดทั้งที่พัฒนาโดยรัฐและเอกชนจะสามารถเชื่อมโยงยังระบบ e claim ของ สปสช.ได้โดยตรง

“ยินดีที่จะดำเนินการพัฒนาระบบส่งข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแบบอัตโนมัติ (Pre-Audit) เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลขั้นต้น และส่งข้อมูลไปดำเนินการเบิกจ่ายอัตโนมัติผ่าน e claim ของ สปสช. ได้ รวมถึงจัดทำระบบตรวจสอบข้อมูลก่อนการเบิกจ่าย (Audit) โดยใช้เทคโนโลยี AI ในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดภาระงานของ สปสช.ในการตรวจสอบ รวมถึงช่วยสถานพยาบาลลดภาระงานในการคีย์ข้อมูลให้ได้รับการเบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น” นายพงษ์ชัย กล่าว