สาธารณรัฐเคนยาเผยข้อสรุปที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ไทยเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยทีมงานเคนยาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เว็บไซต์ capitalfm.co.ke รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ณ นครเจนีวา นางสิซิลี คาริยูกิ (H.E. Mrs. Sicily Kariuki) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้านสุขภาพสาธารณรัฐเคนยา (Cabinet Secretary of Health) ได้ประกาศว่า ประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage หรือ UHC) พร้อมสนับสนุนให้เคนยาบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะช่วยสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ และการอบรมที่เกี่ยวข้อง
นางคาริยูกิ กล่าวว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทีมงานของเคนยา ในการออกแบบชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการช่วยทบทวนโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินงานได้ดีขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ประเทศไทย ยังเสนอโอกาสของการฝึกงาน และทุนการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพของเคนยา เพื่อการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” คือข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 71 ที่จัดขึ้น ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
นอกจากนี้ นางคาริยูกิ ยังกล่าวเสริมว่า ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังประกาศว่าจะช่วยสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ และด้านการเงิน สำหรับการออกแบบ ชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สุขภาพชุมชนที่มีประสิทธิผลของเคนยา ด้วย
นางคาริยูกิ กล่าวว่า ประสบการณ์ของประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า การเพิ่มทรัพยากรในด้านสุขภาพมีความจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
นางคาริยูกิ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มผู้ยากไร้ และกลุ่มคนเปราะบาง โดยการเสนอโครงการอุดหนุนด้านประกันสุขภาพ และ โครงการสำหรับผู้สูงอายุ
“อันที่จริงแล้ว ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ ต้องขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สามารถซื้อหาได้” นางคาริยูกิ กล่าว
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังประกาศอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเคนยาจะเริ่มโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิ (Primary Health Care, PHC) และบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการก้าวไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“เราควรใช้อาสาสมัครสุขภาพชุมชน ในแง่ของแนวคิด การสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิ และการเน้นหนักการลงทุนไปที่กำลังคนด้านสุขภาพที่ทำงานอยู่ด่านหน้า และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการพัฒนา” นางคาริยูกิ กล่าว
นางคาริยูกิ กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ที่มีโครงการด้านบริการปฐมภูมิที่ดี เช่น ประเทศคิวบา ประเทศไทย และประเทศบราซิล ต่างก็มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีในต้นทุนที่ต่ำ ทั้งนี้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) นั้นเป็น 1 ใน 4 เรื่องสำคัญของวาระด้านเศรษฐกิจและสังคมของเคนยา (the ‘Big Four’ Agenda ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย, สุขภาพ, การผลิต และความมั่นคงด้านอาหาร) และการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมผ่านทางบริการด้านสุขภาพ ดังนั้นปัจจุบัน ประเทศเคนยาจึงเห็นว่า บริการปฐมภูมิที่ครอบคลุม คือ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับการบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีสำหรับทุกคน (Health for All)
นางคาริยูกิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรมุ่งเน้นไปที่การรักษามาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นวิธีที่นอกจากจะแพงแล้ว ยังมักจะทำให้ชาวเคนยาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ขณะเดียวกันแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพที่ให้บริการด้านการรักษา ก็มักจะกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตเมือง
“ปัจจุบัน มี 3 มณฑลของเคนยาที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลย นอกจากนี้ ถ้าคำนวณตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ควรมีแพทย์ 1 คน ต่อประชากรพันคน เคนยาก็ยังขาดแคลนแพทย์อีก 40,332 คน”
ในการติดตามความก้าวหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขเคนยาจะชี้ประเด็นเรื่องการขาดแคลนบุคลากร และการขาดแคลนทักษะและศักยภาพในการบริการระบบบริการปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุขเคนยาจะสร้างความมั่นใจด้านอุปทานของยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น จะพัฒนาระบบส่งต่อ จะจัดหาอุปกรณ์ และจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
“โดยภาพรวม เป้าหมายของเราก็คือ การปรับปรุงประสบการณ์ของประชาชนต่อระบบบริการสุขภาพ การปรับปรุงภาวะสุขภาพของประชาชนทั่วไป สร้างความเป็นธรรม ลดราคาค่าบริการ นำความสุขและความพอใจในการปฏิบัติงานด้านบริการปฐมภูมิกลับมา” นางคาริยูกิ กล่าว
ที่มา: capitalfm.co.ke
- 4 views