ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานาธิบดีแห่งเคนยา เน้นย้ำความสำคัญของทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในการการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยรัฐบาลกำลังสนับสนุนนโยบายขยายการศึกษาและอบรมบุคลากร เพื่อเพิ่มทักษะและคุณภาพการบริการสุขภาพ

อูฮูรู เกนยัตตา (Uhuru Kenyatta) ประธานาธิบดีแห่งเคนยา ได้ให้ความความเห็นต่อเรื่องนี้ขณะกล่าวเปิดพิธียกเสาเอกอาคารมหาวิทยาลัยนานาชาติแอมเรฟ (AMREF International University) ในวิทยาเขตเมืองรุยรุ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา

การสร้างอาคารใหม่เป็นแผนงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดเป้าหมายขยายการเข้าถึงความรู้และการอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

1

“หากระบบสุขภาพมีเพียงเทคโนโลยีหรือยาก็ไม่มีประโยชน์ หากทรัพยากรมนุษย์ไม่มีคุณภาพ การให้บริการสุขภาพแก่บุคคลและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหรือการป้องกันโรค จำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ เครื่องมือ และการสนับสนุนเพื่อพัฒนาทักษะให้ดีกว่าเดิม” เกนยัตตากล่าว

“การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ ขึ้นอยู่กับจำนวนบุคลาการทางการแพทย์ที่มีทักษะเหมาะสม สามารถให้บริการสุขภาพได้ทั่วถึงและเข้าถึงได้โดยทุกคน”

ประธานาธิบดีกล่าวอีกว่า แม้โรคระบาดโควิด 19 จะทำให้กระบวนการสร้างหลักประกันสุขภาพในเคนยาช้าลง แต่ก็ไม่ได้หยุดความพยายามของรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำมันให้สำเร็จ

หากต้องการยกระดับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มแอฟริกาแล้ว จำเป็นต้องมีระบบสุขภาพที่ดี เพื่อส่งเสริมให้คนสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพ

“เราต้องเพิ่มการลงทุนด้านการฝึกอบรมทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ และปฏิรูปนโยบายในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ประธานาธิบดีกล่าว

เกนยัตตายังพูดถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในแอฟริกา ซึ่งองค์การอนามัยโลกประเมินว่ารุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก ทั้งๆที่ 25% ของภาระสุขภาพจากการเจ็บป่วย อยู่ที่กลุ่มประเทศแอฟริกา

“ความขาดแคลนนี้ กดดันให้เราต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ประจำชุมชนอีกอย่างน้อย 1 ล้านตำแหน่ง ผู้ผดุงครรภ์อีก 350,000 ตำแหน่ง ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนล่าง เราถึงจะมีจำนวนบุคลากรผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงมี”

“เราควรพึงตระหนักด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์กว่าหลายล้านตำแหน่งที่มีอยู่เดิม ยังขาดการสนับสนุนในหลายด้าน เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการฝึกอบรมที่ทำให้พวกเขาสามารถให้บริการสุขภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

2

เกนยัตตากล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มประเทศแอฟริกาเองก็มีบทเรียนจากโรคระบาดโควิด 19 โดยหลายประเทศไม่สามารถรับมือโรคระบาดได้ดีนัก การเข้าถึงการรักษาและการตรวจก็เหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากร ส่วนหนึ่งเพราะขาดบุคลากรทางการแพทย์หน้าด่าน

ในส่วนของเคนยา รัฐบาลได้ทำมาตรการใหม่ๆที่เน้นสนับสนุนการให้บริการสุขภาพในระดับชุมชนและการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งต้องสามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกพื้นที่ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นอกจากนี้ ยังมีการวางกรอบการทำงานระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น สหภาพบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ตามชุมชน พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพในระดับชุมชนและปฐมภูมิ

ในส่วนของมหาวิทยาลัยนานาชาติแอมเรฟ มีประสบการณ์ด้านการยกระดับความรู้ทางการแพทย์มายาวนานกว่า 65 ปี เป็นส่วนสำคัญในด้านการพัฒนาทักษะและคุณภาพของบุคลากรและการให้บริการสุขภาพ

มูตาฮี คากวา (Mutahi Kagwe) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแห่งเคนยา กล่าวในระหว่างพิธีลงเสาเอกว่า มหาวิทยาลัยนานาชาติแอมเรฟเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรด้านสุขภาพในประเทศแอฟริกา

ทั้งยังพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การสร้างวิทยาเขตใหม่จึงมีความสำคัญต่อการยกระดับทักษะบุคลากรในระยะยาว

มหาวิทยาลัยดังกล่าว เกิดขึ้นจากการผลักดันขององค์กรไม่หวังผลกำไร “แอมเรฟ (AMREF)” ก่อตั้งโดยกลุ่มแพทย์ที่ต้องการเห็นประชากรในกลุ่มประเทศแอฟริกามีสุขภาพดีถ้วนหน้า และทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกมาต่อเนื่องหลายปี

นพ.กิธานี กิธินจี (Gitahi Githinji) ซีอีโอแห่งอามเรฟ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเตรียมให้ทุนการศึกษาแก่ผู้หญิงและผู้ที่มาจากกลุ่มประชากรเปราะบาง เพื่อให้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอีกด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่: https://african.business/2022/07/apo-newsfeed/skilled-health-workforce-key-in-delivery-of-universal-health-coverage-uhc-president-kenyatta-says/