ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์บีบีซี ได้รายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศเคนยา หรือกองทุนประกันค่ารักษาในโรงพยาบาลแห่งชาติ (NHIF) ว่า หลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทุนประกันค่ารักษาในโรงพยาบาลแห่งชาติ (NHIF) ได้ประกาศให้ความคุ้มครองการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนแก่ผู้ถือกรมธรรม์ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ส่งผลให้เอ็ดเจอร์ มูลิลี นักเรียนมัธยมปลายวัย 18 ปีซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรักษามะเร็งหลอดอาหารได้รับความคุ้มครองและมีโอกาสรักษาโรคร้าย ที่โรงพยาบาลไนโรบีอันเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนแถวหน้าในกรุงไนโรบีของเคนยา และมูลิลีคงไม่ได้มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้หากพ่อของเขาไม่ได้สมทบเงิน เดือนละ 5 ดอลลาร์ (ราว 176 บาท) เข้าโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลเคนยา

ประกันสุขภาพของเอ็ดเจอร์ มูลิลีช่วยให้เขาได้รับการรักษามะเร็งอย่างทันท่วงที

บีบีซี เผยว่ามูลิลีเป็นหนึ่งในผู้ใช้สวัสดิการใหม่ที่ชดเชยค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 3,500 ดอลลาร์ (ราว 123, 400 บาท) สำหรับการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เคมีบำบัด รังสีบำบัด  และการบำบัดทดแทนไต สิทธิประโยชน์นี้ทำให้เขาไม่ต้องเสี่ยงกับการรอคิวนานหลายเดือนเพื่อรักษากับโรงพยาบาลรัฐ

มูลิลีถึงกับพูดว่า “ถ้าไม่มีประกัน NHIF ป่านนี้ผมก็คงตายไปแล้วล่ะ และผมคงโทษพ่อแม่ไม่ได้ถ้าพวกท่านไม่มีปัญญาจ่ายค่ารักษา เพราะนั่นมันตั้งครึ่งล้านชิลลิงเคนยา (ราว 176,300 บาท) ถึงเราจะขายทุกอย่างที่พอขายได้บวกกับเงินที่หยิบยืมจากญาติและเพื่อนแล้วก็ยังไม่พอหรอกครับ”

ด้านองค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่าการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลโดยตรงเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกราว 100 ล้านคนถูกฉุดลงสู่บ่อความยากจน ขณะที่อีกราว 150 ล้านคนต้องทนทรมานอยู่กับ “ภัยพิบัติทางการเงิน” และอนามัยโลกยังเห็นว่าการผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศจัดตั้งโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นหนทางสำหรับป้องกันปัญหาดังกล่าว            

บีบีซี เผยอีกว่าโครงการวิจัยในแอฟริกาและเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่าประเทศที่มีโครงการประกันสุขภาพมีเพียงครึ่งหนึ่งจากประเทศที่สำรวจทั้งสิ้น 52 ประเทศ และพบด้วยว่ามีเพียงกานา รวันดา จีน และเวียดนามเท่านั้นที่เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนกรณีของเคนยานั้นเนื่องจากผู้สมทบเงินเข้าโครงการประกันสุขภาพส่วนใหญ่ทำงานประจำจึงทำให้ยังคงมีช่องโหว่ที่ประกันสุขภาพจะไม่ครอบคลุมไปถึงประชากรส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีอาชีพ เป็นแรงงานในภาคการเกษตรรายย่อย หรือประกอบอาชีพอิสระ

อย่างไรก็ตาม โครงการ NHIF เองก็ได้พยายามเข้าถึงชาวบ้านเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีประกันสุขภาพ จอฟฟรีย์ มวางกี ประธานบริหารโครงการ NHIF กล่าวว่า “เป้าหมายของโครงการคือต้องการให้ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อให้เขาสมัครใจเข้าร่วมโครงการ” แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ในอีกด้านหนึ่งถึงแนวคิดที่จะดึงประชาชน 12 ล้านคนสมทบเงินเข้าโครงการเดือนละ 5 ดอลลาร์นั้นเป็นเรื่องเพ้อฝันเมื่อพิจารณาจากตัวเลขรายได้ขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่เดือนละประมาณ 110 ดอลลาร์ (ราว 3,880 บาท) 

บริการสาธารณสุขของเคนยากำลังประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ

ด้านโรเบิร์ต เยตส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ความเห็นว่า “ข้อมูลจากทั่วโลกล้วนชี้ว่าคนจนหรือใกล้ความยากจนจะไม่ซื้อประกันสุขภาพหากรัฐไม่อุดหนุนอย่างจริงจัง และเมื่อเป็นการเข้าโครงการตามความสมัครใจด้วยแล้วก็จะกลายเป็นว่าคนที่เข้าโครงการจะใช้บริการรักษาพยาบาลสูงกว่ามูลค่าเงินที่สมทบเข้าโครงการ ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างภาระแก่สถานะการเงินของโครงการ”

เยตส์ยังได้ยกตัวอย่างรวันดา บุรุนดี ไลบีเรีย เอธิโอเปีย เลโซโท และกาบอง ซึ่งประชาชนเริ่มให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพด้วยการสมทบเงินในอัตราที่เข้าถึงได้ ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าการขยายความคุ้มครองของแผนประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมไปถึงการรักษาโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเช่นในกรณีของมูลิลีได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่ารักษาพยาบาล แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายังคงต้องยกระดับการปรับปรุงระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า

แต่สำหรับมูลิลีแล้วความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมาสะท้อนให้เห็นความปลอดโปร่ง ดังถ้อยคำของเขาที่ว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น รู้สึกได้ว่าผมจะต้องรอดครับ” 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์บีบีซี: Kenya student: How health insurance saved my life.

ที่มา: http://www.bbc.com/news/world-africa-37584302