ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เทศบาลตำบลบ้านหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 13,000 คน เริ่มตั้งกองทุนสุขภาพตำบลในปี 2552 และตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาก็ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A+ มาโดยตลอด อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานให้แก่พื้นที่อื่นๆ"

แม้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นจะมีการดำเนินงานมากว่า 10 ปี แต่จนถึงปัจจุบันหลายพื้นที่ยังติดขัดเรื่องการบริหารจัดการกองทุนฯ เกิดความกังวลว่าจะมีปัญหากับหน่วยงานตรวจสอบจนไม่กล้าใช้เงิน ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินกองทุนฯรวมทั้งประเทศเหลือค้างสะสมกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งในมุมหนึ่งเท่ากับประชาชนสูญเสียโอกาสที่เงินก้อนนี้จะถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ของเทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่มีการดำเนินงานกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม จึงขอนำเสนอบทเรียนความสำเร็จของพื้นที่นี้โดยหวังว่าจะช่วยเป็นแนวทางให้กับพื้นที่ที่มีความติดขัดในการดำเนินงานได้นำไปปรับใช้บริหารกองทุนฯต่อไป

สำหรับเทศบาลตำบลบ้านหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 13,000 คน เริ่มตั้งกองทุนในปี 2552 และตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาก็ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A+ มาโดยตลอด อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานให้แก่พื้นที่อื่นๆ โดยปี 2560 ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลบ้านหลวง ต้อนรับคณะดูงานทั้งจากในจังหวัดและต่างจังหวัดกว่า 20 คณะ และกรรมการกองทุนอีกหลายคนยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอีกหลายต่อหลายเวที

ธีระศักดิ์ โฆษคุณวุฒิ ปลัดเทศบาลตำบลบ้านหลวง กล่าวถึงบริบทในพื้นที่ว่าตำบลบ้านหลวงมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีกลุ่มต่างๆ ทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มสตรี กลุ่มผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ผู้สูงอายุ กลุ่มออกกำลังกาย ฯลฯ ขณะที่คณะกรรมการกองทุนเองก็เป็นผู้มีความรู้ ความสามัคคี ทำงานเป็นทีม ส่วนภาคีเครือข่ายทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล ต่างก็ให้การสนับสนุนอย่างดี ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ขณะเดียวกัน แนวทางการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลจะเน้นหนักในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ การจัดทำข้อมูลพื้นที่ การกำหนดทิศทางของกองทุนฯ ก็ได้เชิญตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆในพื้นที่มาร่วมประชุมจัดทำแผนร่วมกัน ส่วนการจัดสรรงบประมาณกองทุนก็ให้ความสำคัญภาคประชาชน โดยจัดสรรเม็ดเงินตามข้อ 7 (2) ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 40% ของเงินกองทุนทั้งหมด

นอกจากนี้ กระบวนการทำงานจะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมประชุมอบรมต่างๆเทศบาลจะประชาสัมพันธ์ไปถึงในหมู่บ้านทุกรูปแบบ ทั้งเสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมมากที่สุด

“ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราพยายามผลักไปเม็ดเงินไปในข้อ 7 (2) เพื่อสร้างเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือภาคประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ” นายธีระศักดิ์ กล่าว

นายธีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หากสรุปปัจจัยความสำเร็จ (Key success factor) ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านหลวง จะพบว่ามีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย

1.นายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาลมีบทบาทในการบริหารจัดการกองทุนฯ หากพื้นที่ใดที่นายกฯและปลัดเข้าร่วม โอกาสในการดำเนินงานให้สำเร็จก็มีมากกว่า 50% ขึ้นไปแล้ว ทั้งนี้เพราะนายกฯเป็นผู้นำองค์กรที่มาจากภาคประชาชน นายกฯ 1 คนมีประชาชนอยู่ข้างหลัง 7,000-10,000 คน ดังนั้นนายกฯจึงมีศักยภาพในการประสานภาคีเครือข่ายให้เข้ามาร่วมทำงานกองทุนฯ ได้อย่างดีมาก

“ขณะที่ตัวปลัดเอง จะดูแลในเรื่องระเบียบกฎหมาย เป็นหลักชัยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเกิดความสบายใจว่าจะเมื่อมีปลัดมาร่วมแล้ว การเบิกจ่ายต่างๆจะเป็นไปตามกฎหมาย” นายธีระศักดิ์ กล่าว

2.ฝ่ายการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมดำเนินงานกองทุนฯ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเอกสารแนบท้ายประกาศ สปสช.ปี 2557 มีแต่รายละเอียดการเบิกจ่ายทั้งสิ้น หากฝ่ายการคลังเข้าร่วมก็จะมีคนที่เป็นมืออาชีพด้านการเงินการคลังมาช่วยดูแลการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติก็เกิดความสบายใจในระดับหนึ่ง แต่หากพื้นที่ไหนไม่มีฝ่ายการคลังมาร่วมด้วย เวลาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ ผู้ปฏิบัติจะเกิดความไม่สบายใจอย่างแน่นอน

3.คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลต้องมีความรู้ อย่างน้อยแต่ละคนก็มีความรู้ความสามารถตามภูมิหลังมาอยู่แล้ว เพียงแต่มาเติมเต็มความรู้เรื่องกองทุนฯเท่านั้น ซึ่งบทบาทนี้ต่างคนต่างต้องถ่ายทอดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

4.นอกจากคณะกรรมการแล้วต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้วย เพราะลำพังกรรมการกองทุนคงให้มาทำทุกเรื่องไม่ไหว

“ตั้งแต่อนุมัติโครงการ กำกับดูแลเรื่องการเงินบัญชี ให้ความเห็นชอบหลายๆ เรื่อง สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานกองทุนสำเร็จคือบอร์ดต้องแต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานมาช่วยแบ่งเบาภาระ ที่ตำบลบ้านหลวงมี 3 ชุด คือ อนุกรรมการการเงินและบัญชี อนุกรรมการติดตามและประเมินผล และอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ ผมคิดว่ามีแค่ 3 อนุฯนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว” นายธีระศักดิ์ กล่าว

5.มีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมดำเนินงาน 

6.มีระเบียบของกองทุนฯ โดยปกติกองทุนใดก็ตามถ้ามีการเบิกจ่ายก็อิงกับระเบียบของท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการจัดทำระเบียบกองทุนฯมารองรับให้สอดคล้องกับระเบียบของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นค่าวิทยากรควรเบิกจ่ายเท่าไหร่ ค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ฯลฯ ฝ่ายตรวจสอบก็จะมีความสบายใจขึ้น

7.มีปฏิทินกองทุนเสมือนเป็นเข็มทิศนำทางว่าแต่ละเดือนจะดำเนินการเรื่องใด ประชุมเรื่องอะไร ซึ่งที่มาของปฏิทินกองทุนฯก็เกิดจากกิจกรรมในรอบปีที่ผ่านมานั่นเอง เพียงแต่เอามาทบทวนว่าปีก่อนประชุมเดือนไหนทำเรื่องอะไรก็มาทำซ้ำเดิม ส่วนที่ยังขาดตกบกพร่องก็เพิ่มเติมเข้ามา

8.แผนงานโครงการทุกอย่างต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

และ 9. มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทั้งรูปแบบเอกสาร โบรชัวร์ รถประชาสัมพันธ์ วิทยุท้องถิ่น เสียงตามสาย ฯลฯ โดยมีจุดหมายปลายทางให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีชีวีมีสุข

และทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จของกองทุนเทศบาลตำบลบ้านหลวงที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา