ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช. ผนึก ‘ม.บูรพา’ ผลิตนักวิชาการสำหรับช่วยพื้นที่ EEC ทำ HIA คลี่คลายความขัดแย้งจากโครงการพัฒนา


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาบุคลากรและการจัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เพื่อผลิตนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือ HIA ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญระดับพื้นที่-ชุมชน ในการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการ EEC เพื่อพัฒนาสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในภาวะวิกฤต เรื่องของสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับทุกมิติของสังคม และเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้องพัฒนาความยั่งยืนและสร้างความเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะภายใต้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA เป็นเครื่องมือทางวิชาการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม โดยเน้นการทำงานร่วมอย่างสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งอันอาจเกิดจากผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสร้างการยอมรับที่เกิดจากการมีส่วนตัดสินใจร่วมกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนการทำงานที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและประชาชนโดยรว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญในการจัดทำ HIA คือองค์ความรู้ จึงต้องอาศัยพลังของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่คนในพื้นที่ยอมรับ ฉะนั้นบันทึกความร่วมมือในวันนี้ที่เกิดขึ้นจาก สช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) จะช่วยให้งาน HIA ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความเข้มแข็งในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนและประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การทำ MOU บันทึกความร่วมมือกับ สช. ครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะขยายการพัฒนาบทบาทการทำงานด้านสุขภาพ มั่นใจว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันพัฒนาประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภูมิภาคตะวันออก อย่างแน่นอน

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายวิชาการนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในด้านของการสร้างยุทธศาสตร์ให้เกิดผล โดยใช้หัวใจสำคัญ 3 ประการ 1. สร้างความเข้าใจของสังคม 2. สร้างคุณค่าของข้อมูล 3. สร้างความร่วมมือสู่การเกิด SOCIAL MOBILIZATION 

“ทั้ง 3 ประการนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องใช้เครือข่ายวิชาการ ฉะนั้นเชื่อมั่นว่าการร่วมกันพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการฯ ครั้งนี้ จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการ และสร้างความเป็นธรรมให้สังคม” นพ.ชูชัย กล่าว