ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนภาคประชาสังคมใน คสป. ทยอยยื่นหนังสือลาออก สกัดรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างฉวยโอกาสออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ ทำลายเสรีภาพกิจกรรมเพื่อสังคม ชี้เห็นการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นอาชญากร


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) เปิดเผยว่า ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ มิอาจรับร่างกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. … ได้ จึงขอลาออกและจะยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการจากกรรมการชุดนี้

นายจะเด็จ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนขั้นรุนแรง เพราะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) รวมทั้งการเข้ามาตรวจสอบการสื่อสารในสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจากนี้ยังขาดหลักประกันของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาในระดับปัจเจก ระดับชุมชน และกฎหมายนี้ยังมีโทษอาญา ที่รุนแรงถ้าไม่ปฏิบัติตาม เท่ากับว่าเห็นการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นอาชญากร

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 ก.ค. 2564 ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการ คสป. ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อชี้แจงความคืบหน้าร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งตนไม่ขอเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

"กรรมการชุดนี้มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนการรวมกลุ่มภาคประสังคมชนเป็นหลัก การทำแบบนี้ถือเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มประชาชน และเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ฉวยโอกาสใช้คณะกรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อเอากฎหมายมาเป็นช่องทางควบคุมประชาชนมากกว่าสนับสนุน ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน" นายจะเด็จ กล่าว

ด้าน น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คสป. กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนและพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม แต่ในทางกลับกันได้พยายามที่จะผลักร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อต้องการควบคุมสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน โดยให้ภาคประชาชนที่ต้องการรวมกลุ่มต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง ถ้าไม่จดแจ้งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกันยังสามารถเข้าไปในสถานที่ทำงาน และเรียกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ และการดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้การกำหนดของ รมว.มหาดไทย ซึ่งในปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการจดทะเบียนมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และต้องทำรายงานการเงิน รายงานการทำงานให้หน่วยงานรัฐทุกปี

น.ส.สุภาวดี กล่าวว่า ก่อนที่จะมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลไม่ได้เชิญคณะกรรมการชุดนี้มาปรึกษาหารือแต่อย่างใด กรรมการ คสป.ในส่วนผู้แทนขององค์กรภาคประชาสังคม ไม่เคยมีใครรับทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และเดินหน้าเพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมได้พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม โดยมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น และได้พยามผลักดันร่างดังกล่าวก่อนมีรัฐประหารปี 2557 แต่ดูเหมือนว่าร่างที่ประชาชนเสนอไปหายเงียบ แต่กลับมีร่าง พ.ร.บ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาแทนที่

"สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ได้ทำตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ไปลงนามไว้" น.ส.สุภาวดี กล่าว

น.ส.สุภาวดี กล่าวอีกว่า ดังนั้นการประชุมวันที่ 19 นี้ เป็นการประชุมที่น่ากังวลว่ารัฐจะใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ปรึกษาคณะกรรมการ คสป. แล้ว เพื่อเดินหน้าผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน และไม่ฟังเสียงของประชาชน ตนจึงเตรียมจะยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 19 นี้ด้วย