ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(1) เมื่อ 17 ปีก่อน หลังจากที่คุณทักษิณชนะเลือกตั้งรอบแรกไม่นานนักพ่อผมก็ได้รับคำสั่งให้ไปร่วมเซ็ตระบบหน่วยงานแห่งใหม่ เพื่อจะเป็นสำนักงานเข้ามาทำ “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้เกิดขึ้นจริง

ณ เวลานั้น ภายในกระทรวงสาธารณสุข แทบไม่มีใครจินตนาการออกว่า 30 บาท จะรักษาทุกโรคได้อย่างไร

พรรคฝ่ายค้านโจมตีตั้งแต่แรกๆ ที่มีการประกาศโครงสร้างออกมาว่า “30 บาท ตายทุกโรค” ส่วนหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เจ้าของแนวคิด ทีมพรรคไทยรักไทย และเอ็นจีโอที่ร่วมกันตั้งไข่ทำนโยบายนี้ ถูกผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขนินทารับหลังว่าเป็น “พวกคอมมิวนิสต์”

เวลาผมติดสอยห้อยตามพ่อไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อก็มักจะถูกถามด้วยความห่วงใยเหมือนกัน ด้วยผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้น กลัวว่า ข้าราชการตัวเล็กๆ จะตกเป็นเครื่องมือของพวกนักการเมืองผู้เอา “ประชานิยม” มาหาเสียง

โชคยังดีว่าในสมัยนั้น คุณทักษิณยังพอมีเครดิตอยู่บ้าง

(2) หลังจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถูกตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. พ่อก็ย้ายเข้าไปเป็นพวก “ผู้ก่อตั้ง” ทันที โดยมีผลงานเดียวคือทำ “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ช่วงแรกๆ หมอ-พยาบาล ทั้งหลาย เริ่มประท้วงด้วยการแต่งชุดดำ เผาโลงศพ ขณะที่หมอหลายคน ก็ทนไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากราชการ เนื่องจากต้องรับภาระงานที่หนักขึ้น

เพราะ 30 บาทฯ เปลี่ยนวิธีการบริหารงบประมาณทั้งหมด จากเดิมที่งบประมาณก้อนโตถูกจัดสรรลงมายังกระทรวงสาธารณสุข กลับกลายเป็นงบประมาณ ถูกผันลงมายัง สปสช.แทน

สปสช.ทำหน้าที่เป็น “ผู้ซื้อ” โดยเอาเงินภาษีมาจ่ายแทนประชาชน และโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้บริการ” รับเงินจาก สปสช.แทน โดยมีสูตรคำนวณเงินอันซับซ้อน เพราะคิดจากรายหัวประชากรในพื้นที่

เสียงด่าว่าเป็นคอมมิวนิสต์เริ่มหายไป เสียงปรามาสว่า “30 บาท ตายทุกโรค” เริ่มจางลง ส่วนเสียงไม่พอใจจากโรงพยาบาล-บุคลากร โดยเฉพาะจากโรงพยาบาลใหญ่ยังคงอยู่

เช่นเดียวกับ สปสช. ที่ถูกมองเป็นขั้วอำนาจใหม่ และเป็นพวก “ตัวร้าย” ของหมอใหญ่ๆ ในกระทรวง

อาจเป็นเพราะนี่คือ “นวัตกรรมใหม่” ของระบบราชการไทย ที่เงินถูกส่งลงไปหน่วยงานหนึ่ง ส่วนคนทำงาน อยู่อีกหน่วยงานหนึ่ง

ยังไงก็เดาได้อยู่แล้วว่าคนพวกนี้จะซัดกันเข้าสักวัน

(3) ย้อนกลับไป 3-4 ปีก่อน ผมมีเหตุจะต้องข้องเกี่ยวกับการทำข่าวสาธารณสุข ทั้งที่ไม่รู้อะไรเรื่อง 30 บาทฯ มากนัก

กลับกลายเป็นว่า ผมเข้าไปอยู่ท่ามกลางความพยายามครั้งใหญ่ที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยรัฐราชการ เพื่อลดกำลังของ “ขั้วอำนาจใหม่” ลง

หนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือนโยบาย “30 บาทฯ” ถูกบริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน และทำให้ผู้ป่วยหลายคนได้รับการรักษาที่ไม่เต็มร้อย

ขณะที่บุคลากรต้องมาเพิ่มภาระงานหนักขึ้น เพราะต้องทำงานแลกเงิน เพื่อให้ตรงกับเกณฑ์ของผู้ซื้อบริการ ที่ถือเงินไว้

แต่ความพยายามลบล้างก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะเมื่อพูดถึงดอกผลของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นอกจากจะมีงานวิจัยรองรับ มีเครือข่ายต่างประเทศสนับสนุนแล้ว ยังมีประชาชนจำนวนมากที่เคยใช้ประโยชน์ และยังใช้ประโยชน์อยู่คอยเป็นภูมิคุ้มกัน

(4) สาระสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีคนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ กระทั่ง “รอดตาย” จากโครงการ เป็นจำนวนมาก

ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบให้หลายประเทศเดินตาม ในฐานะประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่สามารถทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สามารถใช้งานจริงได้

2 ก.พ. 2018 ผมไปนั่งฟังผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก พูดที่กระทรวงการต่างประเทศสรรเสริญโครงการนี้ว่า เป็นก้าวเดินสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถดูแลชีวิตคนจำนวนมหาศาลได้

ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเดินตามไทย หลายประเทศในยุโรปก็กำลังเดินตามไทย แม้แต่สหประชาชาติ ยังประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบที่ไทยใช้อยู่เป็น Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ยูเอ็นสนับสนุนให้เกิด

โครงการ “30 บาทฯ” เป็นเพียงเรื่องเดียวที่ไทย เอาไปขายกับโลกได้ภาคภูมิใจ ว่าเราเป็นผู้นำอย่างแท้จริง และโลกให้การยอมรับ

(5) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพไทย ข้อที่ดีที่สุดก็คือ คนทุกคนสามารถรับการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่อีกหลายประเด็นยังต้องตั้งคำถามหนักๆ ว่าจะแก้ยังไงต่อ

ไม่ว่าจะเป็น การที่โรงพยาบาลใหญ่มีผู้รับบริการจำนวนมหาศาล จนบุคลากรรับภาระงานไม่ไหว ระบบสุขภาพปฐมภูมิผ่านสถานีอนามัย ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ์รักษาพยาบาลด้วยกัน อย่างสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม, การไม่สามารถดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบได้ รวมถึงการที่เงินในระบบไม่พอ และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งมานักต่อนัก

อย่างไรก็ตาม 16 ปี ของ 30 บาทฯ ได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายนี้สามารถทำได้ และไม่ใช่ประชานิยมมั่วๆ ของนักการเมือง ที่ทำไว้แล้วโดนรัฐบาลต่อมาทิ้งขว้างง่ายๆ หรือมีคดีทุจริตที่ตามมาเป็นกระบุงแบบเรื่องอื่น

ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องให้การยอมรับ เพราะรากของโครงการ ยึดไปถึงประชาชนจนแน่น

จนวันนี้ ไม่มีใครที่จะพูดว่า “30 บาท ตายทุกโรค” “30 บาทเป็นภาระ” หรือ ประเทศไทย “ไม่พร้อม” โดยไม่มีเสียงด่าตามหลังมาได้แล้ว

เพราะระบบที่ถูกเซ็ตขึ้นมา เข้มแข็งจนเกินจะล้มไปด้วยคำพูดพล่อยๆ ได้

หากย้อนไป 16 ปีก่อน ทีมก่อตั้ง สปสช.อย่างพ่อ และคนอื่นๆ คงไม่นึกว่า จะมาถึงวันนี้ได้

ต้องขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันสร้าง Legacy นี้ไว้ และยังรักษามันไว้ได้อยู่

ปล.อย่างไรก็ตาม ข้อคิดสำคัญของโครงการนี้ก็คือน่าเสียดายที่การเข็นนโยบายแบบนี้ให้เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องยากมาก

เพราะต้องผสานทั้ง ความคิดสร้างสรรค์ พลังทางการเมือง เครดิตของตัวผู้สร้างนโยบาย หลักการที่หนักแน่น งานวิชาการรองรับ ภาคประชาชนที่แอคทีฟ

และต้องมีแม้กระทั่งกระบวนท่าบู๊และบุ๋น เพื่อสู้ในสงครามกับนักการเมือง และรัฐราชการ เพื่อรักษานโยบายนี้ไว้

เราจึงไม่เห็น legacy แบบนี้ในนโยบายอื่นอีกเลย..

ผู้เขียน: สุภชาติ เล็บนาค นักศึกษาปริญญาโทสาขา Journalism, Monash University ประเทศออสเตรเลีย

ที่มา: สุภชาติ เล็บนาค