ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกฯ "ทักษิณ" เล่าย้อนอดีตจุดเริ่มต้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ยันเกิดขึ้นได้ด้วยความมุ่งมั่นของ "นพ.สงวน" ย้ำการเจ็บป่วยไม่ควรต้องเป็นอนาถา


นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการ CareTalk x CareClubHouse เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในโอกาสครบรอบ 24 ปี การเสียชีวิตของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุตอนหนึ่งว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2542 เมื่อได้ฟัง นพ.สงวน พูดก็พบว่า นพ.สงวน มีความมุ่งมั่นสูงมาก ในการทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง

"แล้วบังเอิญผมเป็นคนบ้านนอก เคยไปโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่) แล้วเดินผ่านห้องอนาถา เห็นชาวบ้านมารอคิว ผมมีความรู้สึกอย่างเดียวว่า ในเมื่อเวลาเราเลือกตั้ง 1 เสียงเท่ากัน เศรษฐี ยาจก ได้หนึ่งเสียง นับหนึ่งเหมือนกัน แล้วทำไมเราต้องให้เขาเป็นอนาถา การเจ็บป่วย ทำไมต้องเป็นอนาถา และทำไมเราไม่ดูแลคนของชาติเรา แล้วไปเห็นใจคนชาติอื่นโดยไม่ดูแลคนชาติเรา อย่างนี้หรือ" นายทักษิณ ระบุ

นายทักษิณ ระบุว่า ภายหลังจาก นพ.สงวน เล่าให้ฟังก็คิดว่าตรงใจมาก และเมื่อได้เห็นความมุ่งมั่นของ นพ.สงวน แล้ว ก็ได้สอบถามว่าในทางเทคนิคตามหลักวิชาการนั้นทำได้แน่ใช่หรือไม่ เพียงแค่จัดงบประมาณอย่างเดียวใช่หรือไม่ ซึ่ง นพ.สงวน ได้ตอบว่าใช่

"ผมก็เห็นว่าเป็นไปได้ เพราะตอนผมไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ก็เห็นระบบประกันสุขภาพ BlueCross BlueShield ของสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็เอาตัวนี้มาประยุกต์เลยว่า สมมติว่ารัฐบาลจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ประชาชนทั้งหมด หัวละ 2,000 บาท ก็แสดงว่าค่าพรีเมียมหัวละ 2,000 แต่ทุกคนไม่ได้ป่วยหมดทุกคน คนไม่ป่วย ก็คือบริษัทประกันกิน คนป่วย บริษัทประกันก็ขาดทุน เขายอมขาดทุนจากคนป่วย กำไรจากคนไม่ป่วย..."

"...เราก็เอาหลักนี้มาคิด เท่ากับเราออกค่า Insurance ให้กับประชาชน แล้วเงินมาจากไหน ก็เอามาจากเงินที่จ่ายให้โรงพยาบาล จ่ายเป็นก้อนอยู่แล้ว ให้ไปบริหาร ดีบ้าง เฮงซวยบ้าง ผมก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ เอามารวมเป็นก้อน เขตนี้ มีประชากรกี่ล้านคน ถ้ามีล้านคน คนละ 2,000 ก็ 2,000 ล้านบาท เท่านั้น" นายทักษิณ ระบุ

นายทักษิณ ยังได้ระบุถึงที่มาของ 30 บาท ซึ่งได้คิดร่วมกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ว่าถ้าเอามากกว่า 30 บาท คนยากจนก็ไม่มีเงินอยู่ดี แต่ถ้าเอาน้อยกว่า 30 บาท เป็น 5 บาท 10 บาท ก็จะไม่มีความหมาย การเก็บ 30 บาท จะทำให้คนไม่มาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากเขาไม่ป่วยจะได้ไม่มา แต่หากมาก็จ่าย 30 บาทเท่านั้น และในมุมของบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะได้เห็นว่าประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย แต่จ่าย 30 บาทเท่ากัน มาซื้อบริการทางโรงพยาบาลของคุณ ซึ่งนี่คือหัวใจของประชาธิปไตย และเราใช้เงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทก็ทำได้

"หากไม่มีความมุ่งมั่นของ นพ.สงวน โครงการนี้ก็ยากที่จะเกิดขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานที่ นพ.สงวน เป็นหมอชนบทมาก่อน ได้เห็นชาวบ้านแบบเดียวกับที่ผมเคยเห็น และได้ศึกษาจนรู้วิธีแก้ปัญหา ผมคิดว่าวันนี้ ต้องถือว่าคนที่รอดตาย ได้รับการรักษาที่ดี ก็ถือว่าส่งผลบุญกับคุณหมอสงวนของเรา ซึ่งเป็นคนดีมาก และเก่ง" นายทักษิณ ระบุ

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า นพ.สงวน เป็นรุ่นพี่ และเป็นแพทย์ที่สนใจความทุกข์ยากประชาชนตั้งแต่เรียนแพทย์ด้วยกัน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย

"คุณหมอสงวนมีความฝันตั้งแต่ทำงานใน สธ. ตั้งแต่ในกองแผนงาน เสนอทุกพรรค รวมถึงพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลในเวลานั้น แต่ไม่มีใครมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทำได้ บางคนบอกว่าเป็นเรื่องเพี้ยน ผมได้พบกับคุณหมอสงวนอีกครั้งในปี 2542 แล้วก็พาคุณหมอสงวนไปพบหัวหน้าพรรคไทยรักไทย คือนายกฯ ทักษิณ คุยกันประมาณ 40 นาที เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2542 ซึ่งคุณหมอสงวน เสนอแนวคิดหลักประกันสุขภาพฯ และความเป็นไปได้..."

"....ตอนแรกผมก็คิดว่าวันนั้นอาจจะจบด้วยว่า ขอคิดดูก่อน หรือทางหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่หลังจากนำเสนอเสร็จ 40 นาที คุณทักษิณก็บอกกับที่ประชุม และบอกกับคุณหมอสงวนว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์กับประชาชน และสามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้ แล้วก็เดินหน้าบรรจุเป็นนโยบายทันที" นพ.สุรพงษ์ ระบุ

นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ในช่วงแรกยังคงมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของจำนวนเงิน โดย นพ.สงวน มองว่าอาจต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาท แต่หัวหน้าพรรคไทยรักไทยเห็นว่าจากประสบการณ์การทำงานในคณะรัฐมนตรี คิดว่าไม่ถึง และอาจนำงบประมาณในส่วนอื่นมาปรับใช้ได้ เพื่อให้สามารถใช้เงินไม่กี่หมื่นล้านบาท

"สุดท้าย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงได้กลายเป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 3 นโยบาย เมื่อปี 2544 จนสามารถสร้างหลักประกันฯ ได้ทุกคนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2544 ต้องยอมรับว่าเรื่ององค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และองค์ความรู้ของคุณหมอสงวน ที่อุทิศความรู้ มีการเรียนในยุโรป นำร่องในหลายโครงการ ทั้งในโครงการอยุธยา และในโรงพยาบาลต่างๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งถ้าไม่มีหมอสงวน โครงการนี้ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้" นพ.สุรพงษ์ ระบุ