ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันกับ “30 บาทรักษาทุกโรค” นับตั้งแต่ปี 2545 ได้ส่งผลให้ประชากรไทยจำนวนกว่า 47 ล้านคน ที่ไม่มีหลักประกันอื่นในชีวิต สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยที่ไม่ต้องประสบภาวะล้มละลาย

บนสายตานานาชาติ ไทยกลายเป็นบทเรียนตัวอย่างในฐานะหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) แต่กลับสามารถประสบความสำเร็จในการมีระบบที่ดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมกัน คือประเด็นที่มักถูกตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เมื่อระบบบัตรทองได้ทำให้ผู้คนเกือบทั้งประเทศเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว นั่นจะส่งผลให้คนเกิดความต้องการเข้ามารักษาพยาบาลมากขึ้น ละเลยการดูแลสุขภาพ หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้นหรือไม่?

พฤติกรรมดังกล่าวมีการใช้คำเรียกที่ว่า ภาวะภัยทางศีลธรรม หรือ “Moral Hazard” ซึ่งเป็นคำที่อาจคุ้นเคยกันในแวดวงประกันภัย กล่าวคือเมื่อคนมีการทำประกันภัยใดๆ เอาไว้ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ฯลฯ ที่ส่งผลให้ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ก็มีแนวโน้มว่าคนจะขาดความระมัดระวังในสิ่งนั้น หรือแม้แต่เกิดการกระทำอันไม่สุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์จากการเอาประกันภัย

แม้มาถึงปัจจุบันจะยังคงมีการตั้งประเด็นเช่นนี้ขึ้นมาอยู่เนืองๆ หากแต่อันที่จริงคำถามดังกล่าวได้เคยถูกไขคำตอบเอาไว้ ย้อนกลับไปตั้งแต่ในปี 2556 จากงานวิจัยเรื่อง “The impact of Universal Health Coverage on health care consumption and risky behaviours: evidence from Thailand” ซึ่งถูกเผยแพร่โดยกลุ่มการจัดการด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัย Imperial College London สหราชอาณาจักร ที่ตั้งโจทย์วิจัยบนสมมติฐานเดียวกันนี้

การวิจัยนี้ได้ทำการวิเคราะห์บนฐานข้อมูล ผลการสํารวจอนามัยและสวัสดิการของประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2539, 2544 และ 2546 จำนวนกว่า 95,000 ตัวอย่าง เพื่อมองหาผลกระทบด้านลบ หรือ Moral Hazard ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกิดขึ้น

ทว่าบทสรุปของงานวิจัยดังกล่าว คือการยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของ “พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ” หรือการมี “พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ” ที่ลดลง หลังจากที่ผู้คนมีระบบบัตรทองคุ้มครองอยู่ข้างหลัง

กล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ การศึกษาชิ้นนี้ได้ “ปัดตก” ข้อครหาที่ว่าบัตรทองทำให้คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น และดูแลสุขภาพน้อยลง

หากพูดให้ชัดถึงพฤติกรรมด้านลบทางสุขภาพที่อาจเป็นข้อสังเกตได้ อย่างการ “ดื่มเหล้า” ทีมวิจัยยืนยันว่าไม่มีข้อค้นพบใดที่บ่งชี้ว่าภายหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว จะทำให้พฤติกรรมการดื่มเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกันกลับพบว่าอัตราความชุกของการ “สูบบุหรี่” นั้นลดลง

ขณะเดียวกันเมื่อมองลึกลงไปถึงปริมาณการเข้ารับบริการ งานวิจัยนี้ยังตอกย้ำว่าระบบบัตรทองได้ส่งผลให้อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นมาราว 2% เท่านั้น ในขณะที่การเข้ารับการตรวจแบบผู้ป่วยนอกก็เพิ่มขึ้น 13% ซึ่งภาพรวมของการค้นพบนี้ก็ไม่ได้บ่งชี้ให้เห็นอะไรมากไปกว่าผลกระทบด้านบวก อันเนื่องมาจากการที่ประชากรสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น

“มันเป็นเรื่องชัดเจนว่า ภารกิจการสร้างระบบสุขภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ คือสิ่งสำคัญที่อยู่เหนือกว่าการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมัน เราไม่ได้หมายความว่าประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมและจริยธรรมจะไม่ต้องนำมาพิจารณา แต่การทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ยังคงเป็นเป้าหมายหลักที่ภาคนโยบายของแต่ละประเทศต้องทำให้เกิดขึ้นสำหรับประชากรของตน” การอภิปรายผลของคณะวิจัย ระบุ

ที่มา: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25116081/