ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาประการหนึ่งของกองทุนสุขภาพท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่คือการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่หมด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ซึ่งมีความซับซ้อนหลากหลายมากกว่าพื้นที่ชนบท

เทศบาลนครหาดใหญ่เอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างกองทุนสุขภาพตำบลที่ได้งบประมาณเข้ากองทุนปีละหลายล้านบาท แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบให้หมดปีต่อปี จนขณะนี้มีเงินค้างสะสมกว่า 37 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีนี้อีก 12 ล้านบาท เท่ากับในปี 2561 นี้ กองทุนสุขภาพตำบลเทศบาลนครหาดใหญ่มีเงินสำหรับผลักดันโครงการต่างๆกว่า 49 ล้านบาทเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนสุขภาพตำบลเทศบาลนครหาดใหญ่ พร้อมให้คำแนะนำในการเร่งผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ยังมีปัญหาเบิกจ่ายเงินได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

วีระชัย ก้อนมณี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพชุมชน สปสช. กล่าวว่า อันดับแรกต้องดูเรื่องแนวคิดในการบริหารกองทุนสุขภาพตำบลก่อน กองทุนสุขภาพตำบลเป็น matching fund ที่มีหลักคิดง่ายๆคือ สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาเงินมารวมกันแล้วให้คณะกรรมการกองทุนเป็นคนบริหาร ซึ่งในส่วนของเทศบาลนครหาดใหญ่ สามารถดำเนินการได้ถึงขั้นนี้แล้ว มีองค์ประกอบในการเสนอของบประมาณครบถ้วน

วีระชัยกล่าวอีกว่า แนวคิดในการตั้งกองทุนขึ้นมาก็เพื่อให้คน 3 ประเภทเข้ามาเสนอโครงการคือ 1.กลุ่มที่มีภารกิจทางด้านสาธารณสุข เช่น ศูนย์บริการสุขภาพเทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กล่าวโดยสรุปคือหน่วยบริการทั้งหมดสามารถเสนอโครงการได้

2.กลุ่มที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน คือ ประชาชนกลุ่มต่างๆที่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มผู้สูงอายุ ก็สามารถเสนอโครงการได้ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ไม่มีภารกิจทางด้านสาธารณสุข เช่น โรงเรียน วัด หรือส่วนราชการต่างๆ แม้กระทั่งชมรมพนักงานเทศบาลนครหาดใหญ่ก็สามารถเสนอโครงการดูแลสุขภาพตัวเองได้เช่นกัน

และ 3.กลุ่มศูนย์เด็กและศูนย์ผู้สูงอายุ โดยกลุ่มนี้ถูกระบุว่าต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 15% ของเงินที่เข้ากองทุนในปีนั้น

วีระชัย กล่าวต่อไปว่า หากดูประวัติการเบิกจ่ายเงินกองทุนของเทศบาลนครหาดใหญ่จะพบว่ามีเงินเหลือประมาณปีละ 5-6 ล้านบาท สะสมมาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 37 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นการบริหารเงินส่วนตัวถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมาก

อย่างไรก็ดี ในการออกแบบกองทุนสุขภาพตำบลนั้น สปสช.ต้องการให้ใช้เงินหมดเป็นปีๆไป เพราะฉะนั้นโดยหลักการทำงานแล้ว เมื่อมีการเสนอโครงการเข้ามาและคณะกรรมการกองทุนอนุมัติแล้ว ระเบียบที่เขียนไว้สามารถจ่ายเงินให้ผู้เสนอโครงการได้เลย เมื่อจ่ายออกไปแล้วก็หมดภาระของการเป็นกองทุน หน่วยงานที่เสนอโครงการก็เอาเงินไปใช้ตามที่ขอ และเมื่อทำโครงการเสร็จก็สรุปผลงานมาส่งพร้อมเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆไว้

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัญหาของเทศบาลนครหาดใหญ่แล้วอาจเป็นเพราะไม่มีคนเสนอโครงการ ขณะที่ในปี 2561 ก็จะมีเงินเข้ามาอีก 12 ล้านบาท บวกกับเงินค้างสะสมเดิมรวมเป็น 49 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก ถ้าจะใช้ให้หมดต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าของปีที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการที่แนะนำคือให้แยกเงินในหมวด 4หรือหมวดบริหารออกมาก่อน โดยสามารถใช้ได้ไม่เกิน 15% ของเงินในปีนั้น รวมทั้งแบ่งให้หมวด 3 ศูนย์เด็กและศูนย์ผู้สูงอายุไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

“ส่วนเงินที่เหลือ ลองแบ่งเป็นโควตาให้หน่วยบริการหรือศูนย์บริการของเทศบาลให้เอาไปทำเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เอาไปตรวจสุขภาพนักเรียน เอาไปส่งเสริมการออกกำลัง ฯลฯ พออนุมัติแล้วท่านก็โอนเงินให้ศูนย์บริการเอาไปใช้เลย ผมเคยทำที่โคราชก็เจอแบบนี้ เขามีเงินเข้ากองทุน 8 ล้านบาท ก็มีการจัดสรรโคว้ต้างบประมาณให้แต่ละศูนย์บริการ สิ้นปีทำให้ไม่มีเงินเหลือค้าง” วีระชัย กล่าว

วีระชัย กล่าวว่า วิธีการแบ่งโควตาเช่นนี้ กทม.ก็ได้นำมาปรับใช้กับกองทุนที่กำลังจะจัดตั้งในเร็วๆนี้ โดยแบ่งงบประมาณออกเป็นโซนให้แต่ละเขตรับผิดชอบเขตใครเขตมัน ขณะเดียวกัน นอกจากการแบ่งโควตาให้หน่วยงานหรือหน่วยบริการออกเป็นโซนแล้ว ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องมีกลไกคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองในแต่ละโซนขึ้นมาอีกชั้นก่อนถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะกรรมการในบอร์ดใหญ่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาจไม่มีเวลามากพอที่จะคอยเฝ้าติดตามรายละเอียดต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีคณะกรรมการชุดรองลงมา จะตั้งกี่ชุดก็ได้ คอยดูแลกลั่นกรองความถูกต้องของโครงการในแต่ละเขตแต่ละโซนก่อนเสนอเข้าบอร์ดใหญ่  ซึ่งในส่วนของเทศบาลนครหาดใหญ่และพื้นที่ชุมชนเมืองอื่นๆก็สามารถนำรูปแบบนี้ไปปรับใช้ได้

“โดยหลักการแล้ว เงินก้อนนี้คือเงินที่ให้หน่วยบริการใช้ออกไปทำงานเชิงรุกนอกที่ตั้ง ส่วนการทำงานในหน่วยงานตามปกติก็ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัว เพราะฉะนั้นข้อเสนอของผมคือ แบ่งโซน มีคณะทำงานดูแล แล้วค่อยมาเสนอกรรมการชุดใหญ่ หลังจากอนุมัติแล้วก็จ่ายเงินออกไป อนุมัติ 5 หมื่นบาทก็จ่ายไป 5 หมื่นบาทเลย เพราะระเบียบบอกว่าให้จ่ายเงินตามที่กรรมการอนุมัติ” วีระชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากสัดส่วนการอนุมัติโครงการของเทศบาลนครหาดใหญ่จะพบว่าโครงการส่วนใหญ่ไปอยู่ในกลุ่มหน่วยบริการของเทศบาล แต่กลุ่มอื่นๆเช่นศูนย์เด็ก ศูนย์ผู้สูงอายุ มีการอนุมัติโครงการไปนิดเดียว ซึ่งในส่วนนี้ก็สามารถใช้รูปแบบการแบ่งโควตากันทำโครงการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น โครงการล้างมือเด็ก โครงการแปรงฟันเด็ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตนเอง และเป็นงานปกติ ไม่ได้เพิ่มงานใหม่ให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

นอกจากหน่วยบริการต่างๆแล้ว ในส่วนของโครงการที่เสนอโดยภาคีเครือข่ายหรือประชาชนกลุ่มต่างๆก็ควรต้องเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาด้วย หากชาวบ้านเขียนโครงการไม่เป็น ก็สามารถใช้งบบริหารไปจัดอบรมให้ หรือถ้าอบรมแล้วยังเขียนไม่เป็น ตอนนี้ สปสช.มีเมนูโครงการหมวดต่างๆอยู่บนเว็บไซต์ สามารถดาวน์โหลดมาปรับแก้เพื่อนำไปเสนอของบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลได้เลย แม้เป็นวิธีที่อาจเหมือนลอกความคิดคนอื่น แต่ถ้าประชาชนในพื้นที่ยังทำไม่เป็น ก็เริ่มง่ายๆแบบนี้ไปก่อน จนเมื่อสามารถเขียนโครงการเป็นก็จะได้ปรับปรุงหรือคิดโครงการที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ขึ้นมาใหม่ได้ในอนาคต

“ยกตัวอย่างเช่นเขต 9 ทำโครงการมหัศจรรย์พันวัน พอมาฝากท้องที่ศูนย์บริการ แจกนมให้แม่ 90 กล่องไปเลย พอคลอดแล้ว ค่าออกเยี่ยมหลังคลอดคิดคนละ 500 บาท แบบนี้เขาเขียนจนอายุ 5 ปีเลย ท่านจะสามารถนำเงินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน โครงการไหนที่โรงเรียนควรทำ เราก็อบรมเขาบอกว่าโครงการนี้โรงเรียนควรทำแบบนี้ ถ้าใช้วิธีนี้ โครงสร้างของท่านต้องมีคณะทำงานต่อข้างล่าง ใช้ชุดใหญ่ชุดเดียวไม่ได้ กองทุนขนาดใหญ่ต้องมีกลไกเข้ามาซ้อนข้างล่างเพื่อBack up ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อสกรีนว่าโครงการที่เสนอขอมาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนตำบลหรือไม่”วีระชัย กล่าว

วีระชัย สรุปทิ้งท้ายว่า หากยกเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นตัวอย่างสะท้อนปัญหากองทุนสุขภาพท้องถิ่นขนาดใหญ่ จะพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใช้เงินไม่เป็น แต่อาจต้องกระจายเงินออกและต้องเพิ่มภาคีเครือข่ายให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ระเบียบ สปสช. นั้นรองรับการอนุมัติเงินให้ภาคีเครือข่ายอยู่แล้ว ให้โอนเงินให้เจ้าของโครงการได้เลยเมื่อคณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ตรงนี้จะทำให้เกิดแรงเชื่อมกับชุมชนและหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขก็ได้ผลงานโดยมีคนอื่นมาช่วยอีกแรงด้วย