ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาฯ ยืนยันไทยมีจำนวน "นักกายภาพบำบัด" เพียงพอ แต่ติดปัญหาการบรรจุเข้าระบบบริการ พบเพียงครึ่งหนึ่งของผู้มีใบประกอบฯเท่านั้นที่ได้ทำงานในวิชาชีพ บางรายต้องเป็นลูกจ้างรายวันนาน 3-5 ปี


นางสมใจ ลือวิเศษไพบูลย์ นายกสภากายภาพบำบัด เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัญหาขาดแคลนของนักกายภาพบำบัดนั้น แตกต่างจากวิชาชีพอื่นอย่างแพทย์ หรือพยาบาล ที่ประสบปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอและต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต หากแต่นักกายภาพบำบัดนั้นมีบุคลากรจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการจ้างเข้าสู่ระบบการทำงาน และถูกสกัดไว้ด้วยเหตุผลของฝ่ายบริหารว่าที่มีอยู่แล้วนั้นเพียงพอ

ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวนนักกายภาพบำบัด ที่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่ประมาณ 12,000 คน ในจำนวนนี้ราว 3,200 คน ทำงานอยู่ในภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีกราว 2,000 คน ทำงานในภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ ขณะที่ไปเป็นอาจารย์และอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ อีกราว 900 คนเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของนักกายภาพบำบัดเท่านั้นที่ได้ใช้วิชาความรู้ในการประกอบอาชีพ

นางสมใจ กล่าวว่า ขณะที่ภาพรวมของประเทศนั้น สามารถผลิตนักกายภาพบำบัดได้มากกว่า 800-900 คนต่อปี จาก 17 สถาบันทั่วประเทศ จึงยืนยันว่าจำนวนของนักกายภาพบำบัดที่มีอยู่นั้นเพียงพอ หากแต่ยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการบรรจุอัตรากำลัง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่มีการบรรจุนักกายภาพบำบัดเพิ่มแต่อย่างใด

"ส่วนที่ทำงานอยู่ในภาครัฐอยู่แล้วนั้น ก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเพียง 2,600 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือราว 600 คน ต้องทำงานในลักษณะเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน ซึ่งบางคนก็ต้องทำงานเป็นรายวันแบบนี้มา 3-5 ปีก็มี จึงนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการบรรจุข้าราชการรอบล่าสุด ที่ ครม.ได้อนุมัติโควต้าให้รวม 1,560 คนทั้งประเทศ แต่ก็บรรจุไปได้ประมาณ 1,200 คนเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มตกหล่นที่ติดขัดกับเงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ อีก" นางสมใจ ระบุ

นางสมใจ กล่าวอีกว่า ด้วยปริมาณของนักกายภาพบำบัดที่มีอยู่อย่างจำกัดในหน่วยบริการนี้เอง จึงทำให้การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยเป็นไปได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะหลายแห่งมีนักกายภาพบำบัดเพียงคนเดียว ซึ่งนอกจากให้บริการที่หน่วยบริการแล้ว ยังต้องลงไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ถูกส่งกลับบ้าน ซึ่งสุดท้ายก็สามารถเข้าเยี่ยมได้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น แทนที่ผู้ป่วยรายนั้นจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ก็กลายเป็นอัมพาตที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มมากขึ้น

"ศักยภาพของวิชาชีพเรา ยิ่งได้ลงไปอยู่ใกล้ประชาชนเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะกายภาพบำบัดจะเป็นส่วนช่วยในการดูแลฟื้นฟู รวมถึงส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของคนในชุมชนได้มาก ซึ่งถ้านักกายภาพบำบัดลงไปในระดับ รพ.สต. ได้สักคน เราก็ยังสามารถช่วยโค้ชชิ่งให้กับ อสม. อีกหลายคนมาร่วมกันดูแลชุมชนได้ แต่เมื่อในระบบริหารเราบอกว่ามีเท่านี้เพียงพอแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปพอได้อย่างไร จึงอยากให้ได้ลงพื้นที่ไปสอบถามจากปากประชาชนที่ถูกทิ้งให้นอนอยู่ตามบ้านบ้าง" นายกสภากายภาพบำบัด ระบุ