ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.รับทราบร่างแผน “ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง” มุ่งสร้างเอกภาพ-ความเป็นธรรม สปสช.เตรียมเดินหน้าช่วง 2 ปี พัฒนาระบบ-บูรณาการฐานข้อมูล


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 มีมติรับทราบร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 “การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเป็นเอกภาพ บูรณาการ เป็นธรรม ทั่วถึง เพียงพอ และยั่งยืนด้านการเงินการคลัง”

สำหรับกิจกรรมปฏิรูปดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง 9 ด้าน อันได้แก่ 1. ทุกกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐมีการบริหารการจ่ายที่เป็นระบบเดียวกัน สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) บริการปฐมภูมิ (Primary Care) การดูแลที่บ้าน (Community/Home care) และบริการผู้ป่วยใน (IP)

2. ทุกกองทุนใช้ระบบการบริหารจัดการระบบเดียวและหน่วยบริหารเดียว รวมทั้งสิทธิประโยชน์และกลไกการจ่ายชดเชย รองรับวิกฤติด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ 3. แยกงบบริการ P&P ออกจากงบรักษาพยาบาลทั้ง 3 ระบบ บูรณาการงบประมาณและกิจกรรม P&P ที่ต่อเนื่อง

4. ขยายบริการ/จ่ายชดเชยค่าบริการระยะยาว (LTC) ที่ชุมชน/ที่บ้าน ไปยังประชาชนทุกสิทธิ 5. นำข้อมูลเบิกจ่ายบริการสุขภาพไปใช้ประโยชน์ เพื่อวางแผนการดำเนินการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ 6. คนต่างด้าวทุกคนในประเทศไทย มีระบบประกันสุขภาพภาคบังคับ โดยมีทางเลือกรูปแบบต่างๆ 7. มีผลลัพธ์การจัดบริการแบบเน้นคุณค่า (value-based healthcare) ในพื้นที่นำร่อง (Sand box)

8. มีการปรับปรุงอัตรา เงื่อนไข และเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (UCEP) ให้เป็นระบบเดียวกันทั้งรัฐและเอกชน 9. มีระบบข้อมูลสุขภาพของประชาชน ข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องการพึ่งพิง รวมถึงข้อมูลการใช้บริการของผู้ป่วย ที่บูรณาการครบถ้วนทุกกองทุน มีมาตรฐานการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ว่าที่เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า การดำเนินงานในครั้งนี้จะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย สปสช. ได้เตรียมแผนงานเพื่อรองรับการดำเนินงานไว้จำนวน 5 เป้าหมายย่อย ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. 2564 - ธ.ค. 2565

สำหรับเป้าหมายย่อยนั้น ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบการเงินการคลังและการบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 2. คนต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาในประเทศไทย มีระบบประกันสุขภาพภาคบังคับ โดยมีทางเลือกรูปแบบต่างๆ 3. พัฒนาและบูรณาการระบบฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

4. นำร่องการจัดบริการแบบเน้นคุณค่า (Value-Based Healthcare) ในพื้นที่เขตสุขภาพ 5. มีกลไกและระบบการกำกับติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง