ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัปดาห์ที่ผ่านมา “The Coverage” ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการหนึ่งที่น่าสนใจ และภูมิใจที่จะนำเรื่องราวมาบอกต่อ

นั่นคือ การจัดอบรม “พระนิสิตเมียนมา” เพื่อให้พระนิสิตเหล่านั้น นำองค์ความรู้ไปบอกต่อให้กับ “แรงงานข้ามชาติ”

ภายใต้หลักการ เมียนมาดูแลเมียนมา ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ “แรงงานข้ามชาติ”

โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากการสานพลังระหว่างองค์กรศาสนา หน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และสื่อสาร ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่” ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือ

สาเหตุที่โฟกัสไปที่พระนิสิตเมียนมา และแรงงานข้ามชาติ เนื่องจาก ...

1. แรงงานข้ามชาติ คือผู้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และถือเป็นกำลังสำคัญต่อการ “ควบคุมโรค” ได้ หากสามารถดึงให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันควบคุมโรคได้

2. “พระนิสิตเมียนมา” จะเป็นตัวกลางสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเพราะชาวเมียนมามีพื้นฐานความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา และพร้อมเปิดใจรับฟังพระในฐานะศูนย์รวมจิตใจ

เหล่านี้นำมาสู่การ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาพระนิสิตจิตอาสาเพื่อสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาวะแก่แรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

ศ.ดร.พระเทพวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร. ฉายภาพในการจัดอบรมว่า ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่หวั่นไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจเรียกได้เป็น Buddhist Nationality จะเป็นจุดเปลี่ยนของการควบคุมและป้องกันโรค

ในส่วนของพระนิสิตชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จากข้อมูลของ รศ.ดร.พระเทพเวที รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 6 และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร. ทำให้ทราบว่า มีมากถึง 1,300 รูป ในจำนวนนี้เป็นพระนิสิตชาวเมียนมา 560 รูป

ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ที่ มจร. และที่ผ่านมาพระนิสิตเหล่านั้นได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมาอยู่แล้ว

พระเทพเวที เชื่อว่า สิ่งสำคัญที่พระนิสิตสามารถช่วยได้คือ การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจของแรงงานข้ามชาติต่อนโยบายภาครัฐ ให้รับรู้ว่าไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะเพียงคนไทย แต่เป็นการดูแลทุกคนที่อยู่ภายในประเทศให้สามารถเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า บทบาทของพระนิสิตชาวเมียนมาในที่นี้ จะเป็นทั้งที่ปรึกษา (Counsellor) และผู้นำทางความคิด (Influencer) ให้กับแรงงานชาวเมียนมา อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

“สช. และภาคีเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะช่วยทำให้พระนิสิตเมียนมามีความรู้ ความเข้าใจมาตรการด้านสุขภาพ และนโยบายของประเทศไทย จนสามารถไปสื่อสารกับแรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง” นพ.ประทีป ระบุ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โครงการนี้สอดคล้องกับทิศทางของ สปสช. ที่ต้องการดูแลสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่นผ่านงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

“นอกจากการสนับสนุนโครงการแล้ว สปสช.ยังมีเครื่องมือที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ที่จะเป็นกลไกสำคัญ มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับการรับมือโรคระบาดและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงด้วย” ทพ.อรรถพร กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการครั้งนี้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ 2 ประการ ได้แก่ 1. พระนิสิตสามารถผลิตคลิปวิดีโอสั้นเพื่อใช้สื่อสารได้ด้วยตนเอง 2. มีช่องทางการเผยแพร่ขั้นพื้นฐานทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้พระสงฆ์สามารถเป็นที่พึ่งส่งต่อกำลังใจแก่แรงงานชาวเมียนมา และความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ มาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ที่สอดคล้องกับมาตรการรัฐและนโยบายที่ประเทศไทยวางไว้