ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธรรมศาสตร์ ล้ำไม่หยุด! คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เสาฆ่าเชื้อ UVC” ทำงานระบบอัตโนมัติ เพียง 20 นาทีเชื้อโควิด-19 เดี้ยง เหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง-ตลาด-ห้างสรรพสินค้า ต้นทุนการผลิตเพียง 4,000 บาทเท่านั้น


คณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) โดย รศ.ดร ธีร เจียรศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกันเปิดเผยความสำเร็จผลการคิดค้นและผลิตนวัตกรรมที่ชื่อว่า “TSE UVC Sterilizer” หรือเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ได้สำเร็จ มีลักษณะเป็นเสาสูง 1.2 เมตร พร้อมติดตั้งหลอดไฟ 4 ด้าน ที่มีกำลังสูงพอที่จะทำลายผนังเซลล์ของไวรัสโควิด-19 โดยหลอดไฟจะทำมุม 20 องศา ซึ่งจะทำให้สามารถฉายแสงลงถึงพื้นผิวดินหรือผิวถนนได้

ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ในฐานะผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC  เปิดเผยว่า เสาฆ่าเชื้อดังกล่าวเหมาะสำหรับฉายแสงฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด หรือพื้นผิวต่างๆ เนื่องจากแสง UVC มีศักยภาพที่จะฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้แบบ 100%

อย่างไรก็ตาม แสง UVC เป็นแสงที่มีอันรายมาก เพราะสามารถทะลุผ่านเซลล์ผิวหนังมนุษย์ได้ หรือหากจ้องมองนานเกิน 5 นาที อาจทำให้ตาบอดได้ ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังและถูกวิธีภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด โดยผู้ใช้ต้องถอยออกมาจากพื้นที่ฉายแสงอย่างน้อย 10 เมตร

“เราได้ออกแบบให้สามารถตั้งเวลาถอยหลังได้ คือเมื่อเปิดใช้งานแล้ว เครื่องจะเริ่มทำงานหลังจากนั้น 5-10 นาที ซึ่งทำให้ผู้เปิดใช้งานถอยออกมาได้ จากนั้นเครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติอีกเป็นเวลาราว 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยรัศมีของแสงจะห่างจากจุดติดตั้งเสาประมาณ 2 เมตร” ผศ.ดร.ปรัชญา กล่าว

รศ.ดร ธีร กล่าวว่า เสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC เหมาะสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่กว้างในช่วงเวลาที่ไม่มีคน เช่น ตลาด แผงค้า ห้างสรรพสินค้า สนาม พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ที่ปิดแล้ว โดยการใช้งานง่ายมาเพียงแค่นำไปตั้งตามจุดต่างๆ เปิดคำสั่งอัตโนมัติ และถอยออกมา เมื่อเครื่องทำงานเสร็จในแต่ละรอบก็จะดับไปเอง ทำให้สามารถย้ายไปยังจุดอื่นๆ ได้ต่อไป

“ข้อดีของการฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC คือเชื้อไวรัสจะตาย 100% ในทุกๆ ที่ที่แสงส่องถึง ไม่ต้องเช็ดเหมือนแอลกอฮอล์ ไม่ต้องใช้กำลังคนมาก แต่ในกรณีที่แสงส่องไม่ถึงหรือไม่ทะลุ เช่น ผื้นผิวที่อยู่ด้านหลัง ก็จะไม่ถูกฆ่าเชื้อ โดยเครื่องนี้มีต้นทุนการผลิตราว 3,000-4,000 บาทเท่านั้น” รศ.ดร. ธีร กล่าว

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และมีศูนย์ต่างๆ กระจายอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ นั่นทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มธ. ได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางวิชาการ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่ง จ.ปทุมธานี ได้รับผลกระทบจนมีการประกาศปิดตลาด และควบคุมพื้นที่อย่างเข้มข้น นั่นจึงเป็นภารกิจของ มธ.ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาด้วย

ทั้งนี้ คณาจารย์ มธ. จึงได้ร่วมมือกันคิดค้น และผลิตเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ออกมาจำนวน 4 เครื่อง โดยล่าสุดได้มอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 ตลาดพรพัฒน์ เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อหลังการพ่นยาในบริเวณตลาดพื้นที่เสี่ยง โดยครั้งนี้อาจารย์และทีมบุคคลากร TSE ใช้เวลาในการผลิตเพียง 2-3 วันเท่านั้น